0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 452 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-10-22
จำนวนครั้งที่ชม : 8,590,467 ครั้ง
Online : 85 คน
Photo

    คดีครอบครัว

    2013-01-07 14:43:35 ใน คดีแพ่ง » 1 178873
    • การบอกเลิกสัญญา หรือผิดสัญญาหมั้น
      สัญญาหมั้นไม่เป็นเหตุการณ์บังคับให้ทำการสมรส และไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ต้องอยู่กินร่วมกันเหมือนหน้าที่ของสามี-ภริยา
                หากชายหญิงแม้เป็นคู่หมั้นกันแล้ว ต้องการที่จะล้มเลิกข้อผูกมัดระหว่างกันเองก็สามารถทำได้ ส่วนของหมั้นและสินสอดนั้นจะแบ่งหรือคืนกันอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าการหมั้นนั้นเป็นผู้เยาว์ทำการหมั้นกันเอง โดยไม่ได้รับความยินยอม และมีการบอกล้างสัญญาหมั้นสิ้นสุดเพราะความตายของคู่หมั้นก่อนสมรส ฝ่ายที่มีชีวิตอยู่จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ กรณีชายหญิงคู่หมั้นตายพร้อมกัน เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศเครื่องบินตกทั้งคู่เสียชีวิตพร้อมกัน ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย
                การหมั้นที่เกิดจากการข่มขู่ กลฉ้อฉล หรือสำคัญตัวผิด คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ โดยถือว่ามีเหตุสำคัญ ฝ่ายที่ถูกบอกเลิกจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ แตกต่างจากากรผิดสัญญาหมั้น ซึ่งฝ่ายผิดต้องรับผิด ชดใช้ค่าทดแทนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
                คำว่า “เหตุสำคัญ” หมายถึง เหตุอันจะมีผลให้การใช้ชีวิตสมรสร่วมกันดำเนินไปอย่างไม่สงบสุข เช่น เป็นโรคติดต่อร้ายแรง สภาพแห่งกายไม่สามารถให้กำเนิดบุตร เสียโฉม หรือผิดตัว เป็นต้น หากฝ่ายชายบอกเลิกสัญญาหมั้น หญิงต้องคืนของหมั้น แต่ถ้าหญิงเป็นฝ่ายบอกเลิก หญิงไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย การบอกเลิกเพียงฝ่ายเดียวในกรณีไม่มีเหตุสำคัญย่อมไม่มีผล แต่เมื่อการบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นผลแล้ว จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
                การผิดสัญญาหมั้น หมายถึง การทำผิดต่อคู่หมั้นโดยไม่มีเหตุอันควร อย่างฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้น โดยไปทำการหมั้นหรือทำการสมรสกับชายอื่น ฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น โดยมอบของหมั้นให้บ้างแล้ว และสัญญาว่าจะนำของหมั้นที่ยังขาดมามอบให้อีก ถ้าไม่นำมามอบให้ตามที่ตกลง จะถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นก็ได้ หรือการที่ฝ่ายชายไปทำการหมั้นหรือทำการสมรสกับหญิงอื่น หรือทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้น โดยทั้งคู่ไม่สมัครใจทำการสมรสกัน หรือคู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงหลังการหมั้น เช่น ไปร่วมประเวณีกับคนอื่นเป็นประจำ กรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายชายสามารถเรียกของหมั้นคืนได้ นอกเหนือจากการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าทดแทน
                ในการชดใช้ค่าทดแทนนั้น กฎหมายระบุให้เรียกร้องได้เพื่อทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการใช้จ่ายหรือตกเป็นลูกหนี้ ในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวกับอาชีพ หรือการทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เช่น ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลครอบครัว
                การผิดสัญญาหมั้นนั้นมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น สิทธิเรียกร้องคำทดแทนมีอายุความนาน 6 เดือน ส่วนการเรียกร้องของหมั้นหรือสินสอดคือมีความอายุความนาน 10 ปี
       
      ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น
      ประเพณีการแต่งงานของคนไทย ก่อนที่จะมีการแต่งงานการย่อมมีการทาบทามกันก่อนโดยมีการหมั้น และการให้สินสอดแก่ฝ่ายหญิงในกรณีที่มีการหมั้นนั้นคือการที่ฝ่ายชายได้มอบทรัพย์สินให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและเป็นประกันว่าฝ่ายชายจะทำการสมรสกับหญิงนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 และมาตรา 1430 มีสาระสำคัญว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้นคือ หากคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่ยอมทำการกับคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่ง และในการหมั้นได้กำหนดวันที่เวลาที่จะสมรสกัน กรณีที่จะถือว่าผิดสัญญาหมั้นต่อเมื่อเวลาที่ตกลงกันได้ผ่านพ้นไป หรือคู่สัญญาหมั้นได้บอกปฏิเสธไม่สมรสอย่างชัดแจ้ง หรือทำให้การสมรสเป็นพ้นวิสัยได้ เช่น นายเอได้ทำการหมั้นนางสาวบีและตกลงที่จะแต่งงานในวันที่ 10 ตุลาคม 2552 ก่อนที่จะถึงวันที่ตกลงจะแต่งงาน หากนายเอเปลี่ยนใจไม่แต่งงานกับนางสาวบี โดยนายเอแต่งงานกับนางสาวกุ๊กไก่ ก็ทำให้นางสาวบีได้รับความเสียหายได้ นางสาวบีสามารถเรียกค่าทดแทนจากนายเอได้  หากการหมั้นนั้นไม่ได้กำหนดวัน เวลา ที่จะสมรสโดยสัญญาแต่เพียงว่าจะทำการสมรสกัน ให้ถือว่าสัญญาหมั้นดังกล่าวมีข้อตกลงกันว่าจะทำการสมรสกันในเวลาเมื่อมีการทวงถาม  เช่น นายเอหมั้นนางสาวบี และไม่ได้ตกลงกันว่าจะแต่งงานในวันเวลาใด เมื่อเวลาผ่านไปทางฝ่ายของนางสาวบีทวงถามแก่ฝ่ายชายว่าจะทำการสมรสเมื่อไหร่ หากฝ่ายชายปฏิเสธหรือมีเหตุการณ์ใด ๆ เช่น นายเอแต่งงานกับหญิงอื่น ก็ถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นแล้ว ฝ่ายหญิงก็สามารถเรียกค่าทดแทนได้
                      ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1440 ได้มีกฎหมายคุ้มครองไว้ในเรื่องนี้คือหากฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน หากในกรณีที่หญิงผิดสัญญาก็ให้ฝ่ายหญิงคืนของหมั้นนั้นด้วย เช่น นางสาวบีไม่สามารถที่จะแต่งงานกับนายเอซึ่งเป็นชายคู่หมั้นได้ เนื่องจากนางสาวบีตกลงที่จะแต่งงานกับนายหนึ่ง เมื่อเป็นกรณีเช่นนี้ถือว่านางสาวบีผิดสัญญาหมั้นต้องคืนชองหมั้นให้แก่นายเอ
                      ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
                     (1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น เช่น ฎีกาที่ 311/2522 ชายผิดสัญญาหมั้นฝ่ายชายคือตัวชาย บิดาและมารดาซึ่งไปหมั้นหญิงต้องร่วมกันใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกาย โดยที่หญิงตกเป็นภริยาชายแม้ด้วยความสมัครใจ ความเสียหายต่อชื่อเสียง   และที่ได้เตรียมการสมรส
                     (2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำการ ในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรส โดยสุจริตและตามสมควร เช่นพ่อหรือแม่ของฝ่ายหญิงได้เสียค่าใช้จ่ายในจัดเตรียมงานแต่งงานโดยเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อที่นอนหมอนมุ้งไปเป็นจำนวน 30,000 บาท ฝ่ายหญิงก็สามารถเรียกค่าทดแทนจ่ายฝ่ายชายได้
                     (3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เช่น หญิงลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ หรือขายทรัพย์สินของตนที่ใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อที่จะทำการสมรสซึ่งอยู่ต่างถิ่น
       
      การหมั้น
       “การหมั้น” หรือ “สัญญาหมั้น” หมายถึง สัญญาว่าจะสมรส
      การหมั้น หรือสัญญาหมั้นเป็นสัญญาที่สัญญาว่าจะสมรสในอนาคต แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะต้องมีการหมั้นก่อนที่จะทำการสมรสทุกกรณี อาจจะมีการสมรสโดยไม่มีการหมั้นเกิดขึ้นก่อนก็ได้ การหมั้นหรือสัญญาหมั้นนั้นแต่ต่างจากสัญญาอื่นๆประการที่ไม่สามารถบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาได้หรือบังคับให้สมรสกันได้(ม.1438)
       
      เงื่อนไขการหมั้น
                  การหมั้นจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่จะต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ การหมั้นซึ่งไม่ผ่านเงื่อนไขในข้อหนึ่งข้อใดจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของการหมั้น
      1.      เงื่อนไขในเรื่องอายุ (ม. 1435)
      การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ การหมั้นที่ได้ทำขึ้นในขณะที่ชายหญิงคู่หมั้นมีอายุยังไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แม้ว่าบิดามารดาจะให้ความยินยอมให้ทำการหมั้น การหมั้นนั้นก็ยังมีผลเป็นโมฆะเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการหมั้นเกิดขึ้นเลย ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใดๆต่อกันได้ถ้าต่อมาไม่มีการสมรสเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการเรียกของหมั้นคืนในฐานลาภมิควรได้ อนึ่งแม้ว่าการหมั้นจะตกเป็นโมฆะเพราะเหตุที่ชายหญิงคู่หมั้นอายุไม่ถึงสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่กฎหมายก็มิได้ห้ามมิให้ชายหญิงสมรสกันเมื่อมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์เป็นต้นไป หรืออีกนัยหนึ่งคือชายหญิงจึงสามารถทำการสมรสกันได้แม้ว่าการหมั้นจะตกเป็นโมฆะหากชายหญิงได้ทำถูกต้องในเรื่องการสมรส
      2.      เงื่อนไขในเรื่องความยินยอม  (ม. 1436)
      การหมั้นหากได้กระทำในขณะที่ชายและหญิงคู่หมั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ การหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้ มิเช่นนั้นการหมั้นนั้นจะมีผลเป็นโมฆียะ ส่วนการหมั้นถ้าได้กระทำในขณะที่ชายหญิงบรรลุนิติภาวะแล้วไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลใดอีก
      (1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
      (2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจ ปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
      (3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
      (4) ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1)(2) และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
      3.      เงื่อนไขในเรื่องของหมั้น (ม. 1437)
      การหมั้นจะต้องมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรส โดยของหมั้นจะมีมูลค่าท่าใดก็ได้กฎหมายไม่ได้กำหนดเพียงแต่ให้มีการส่งมอบให้แก่หญิงคู่หมั้นก็เพียงพอ หากไม่มีการให้ของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้นแม้ว่าจะมีพิธีหมั้นหรือมีการเจรจาสู่ขอ การหมั้นนั้นกฎหมายกำหนดว่ามีผลไม่สมบูรณ์
       
      ของหมั้น
      ของหมั้น (ม.1437 ว.1)
      1.  การหมั้นต้องมีการส่งมอบของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้น
      การหมั้นจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิง ถ้าไม่มีการส่งมอบของหมั้นแม้จะมีการหมั้นตามจารีตประเพณีของการหมั้น การหมั้นก็ไม่สมบูรณ์จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้(นำคดีไปฟ้องศาลเพื่อเรียกของหมั้นหรือค่าทดแทนไม่ได้) ซึ่งของหมั้นนั้นจะมีมูลค่าเท่าใดก็ได้ขอเพียงให้มีการให้ของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้นก็เป็นการเพียงพอ
      การฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ หมายความว่า จะฟ้องร้องเรียกให้ฝ่ายชายส่งมอบของหมั้นไม่ได้ หรือจะเรียกค่าทดแทนในกรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นไม่ได้ (ฎีกาที่ 1034/2535)
       
      2.  ของหมั้น ได้แก่ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่หญิงคู่หมั้น เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ผู้ที่ทำการหมั้นมิได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นคู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับชายหรือ หญิงคู่หมั้นด้วย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง หากบุคคลผู้ทำการหมั้นมิใช่ชายหญิงคู่หมั้นแล้ว การหมั้นจะผูกพันเฉพาะผู้ที่ทำการหมั้นเท่านั้นจะผูกพันชายหรือหญิงต่อเมื่อชายหญิงคู่หมั้นได้ตกลงยินยอมในการหมั้นนั้นด้วย 
                         ตัวอย่าง นายแดงอายุ 22 ปี รักนางสาวอ้อ ซึ่งมีอายุ 18 ปี เป็นอันมาก แต่นางสาวอ้อ ไม่ชอบตน นายแดงจึงไปขอหมั้น นางสาวอ้อกับนางเงิน มารดาของนางสาวอ้อ โดยที่นางสาวอ้อ ไม่ได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด นางเงินได้ตกลงรับหมั้นนายแดง และนายแดงได้ส่งมอบแหวนเพชรให้เป็นของหมั้นในวันนั้น หากนางสาวอ้อไม่ยอมทำการสมรสกับนายแดงไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นายแดงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางสาวอ้อไม่ได้ เพราะสัญญาหมั้นรายนี้นางสาวอ้อไม่ได้เป็นคู่สัญญาแต่อย่างใด
      ของหมั้นเมื่อมีการให้แก่หญิงแล้วย่อมตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที นอกจากนี้ของหมั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสินสมรสด้วย (ม. 1437) ของหมั้นถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  จะต้องส่งมอบ ให้หญิงทันที ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ จะต้องจดทะเบียนโอนด้วย
      คำพิพากษาฎีกาที่ 1852/2506 จำเลยขอหมั้นน้องสาวโจทก์เพื่อ ให้แต่งงานกับบุตรจำเลยแต่จำเลยไม่มีเงิน จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาบุตรจำเลยไม่ยอมแต่งงานกับน้องสาวโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตาม สัญญากู้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้ดังกล่าวนี้ เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ ทรัพย์สินในวันข้างหน้า ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันอย่างแท้จริง เจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาก็มิได้มุ่งต่อการให้สัญญากู้ตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ในสภาพของหมั้น และไม่มีความประสงค์ให้ตกเป็นสิทธิของหญิงเมื่อได้ทำ การสมรสแล้ว ในกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่า ได้มีการให้ของหมั้นกันตามกฎหมายแล้วโจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ไม่ได้ เพราะสัญญากู้รายนี้ไม่มีหนี้เดิม ต่อกัน
       
       
         ผลของการหมั้น    
                  การหมั้นที่สมบูรณ์ย่อมนำไปสู่การสมรส แต่ในกรณีที่การสมรสไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรจะบังคับให้มีการสมรสไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นสิ่งที่การหมั้นหรือสัญญาหมั้นแต่ต่างจากสัญญาอื่นๆซึ่งสามารถบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถบังคับให้สมรสไม่ได้ แต่ยังมีผลต่อของหมั้นซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่หญิงคู่หมั้นด้วยว่าหญิงนั้นจะต้องคืนของหมั้นให้แก่ชายหรือไม่ ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้
      ในกรณีที่การสมรสไม่อาจเกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้หญิงคู่หมั้นต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย
      1.        หญิงคู่หมั้นไม่ย่อมสมรสโดยไม่มีเหตุอันสมควร(เท่ากับผิดสัญญาหมั้น)
      2.        ชายคู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิง
                  แต่ในกรณีดังต่อไปนี้หญิงคู่หมั้นไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายชาย(เพราะไม่ได้เกิดจากความผิดของหญิง)
      1.        ชายคู่หมั้นผิดสัญญาหมั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
      2.        ชายหรือหญิงคู่หมั้นตายก่อนสมรส
      3.        หญิงคู่หมั้นบอกเลิกการหมั้นกรณีมีเหตุสำคัญเกิดจากชายคู่หมั้น
      4.        ต่างฝ่ายต่างละเลยไม่นำพาต่อการจดทะเบียน จะถือว่าหญิงคู่หมั้นผิดสัญญาไม่ได้
       
       
      สินสอด
      หมายถึง  ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (ม.1437)โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด
      ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
      1.      ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง   เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ
      2.      ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
       
      การผิดสัญญาหมั้น
      ถ้าชาย หรือหญิงคู่หมั้นไม่ทำการสมรสกัน โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ถือว่าคู่หมั้นนั้นผิดสัญญาหมั้นฝ่ายคู่หมั้นที่ผิดสัญญาต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทน (ม.1439)คู่สัญญาหมั้น ไม่ใช่แค่ชายและหญิงคู่หมั้น
       
      ค่าทดแทนในการผิดสัญญาหมั้นได้แก่ (ม.1440)
      1.  ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายของอีกฝ่ายหนึ่ง
      2.  ค่าทดแทนความเสียหายต่อชื่อเสียงของอีกฝ่ายหนึ่ง
      3.  ค่าทดแทนความเสียหายในการที่ได้ใช้จ่าย หรือ ต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
      4.  ค่าทดแทนความเสียหายในกรณีที่ได้จัดการทรัพย์สินด้วยความคาดหมายว่าจะได้สมรส
      5.  ค่าทดแทนความเสียหายในการที่ได้จัดการด้านต่างๆ เกี่ยวกับ  อาชีพ หรือทางทำมาหาได้ ด้วยคาดหมายว่าจะได้สมรส
                กรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้น แก่ฝ่ายชายด้วย
       
      ค่าทดแทนในกรณีเสมือนผิดสัญญาหมั้น
      ในกรณีบอกเลิกเพราะคู่หมั้นกระทำชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งได้กระทำภายหลังจากการหมั้น
      ค่าทดแทนในกรณีที่มีเหตุอื่นใดในทางประเวณีเกิดขึ้นกับหญิงคู่หมั้น (ม.1445)
      1.  ชายคู่หมั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้นโดยรู้ หรือควรรู้ว่าหญิงนั้นได้หมั้นแล้วกับตน ชายคู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนได้ต่อเมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้น
      2.  ชายคู่หมั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่ได้ข่มขืน หรือพยายามข่มขืนกระทำชำเรากับหญิงคู่หมั้น หากชายอื่นได้รู้หรือควรรู้แล้ว่าหญิงนั้นได้หมั้นแล้ว โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น
       
      ความระงับสิ้นแห่งสัญญาหมั้น
      1.      ความตายของคู่หมั้น
      2.      การเลิกสัญญาหมั้นโดยสมัครใจ
      ภายหลังการหมั้นคู่หมั้นอาจตกลงเลิกสัญญาหมั้นต่อกันได้โดยตกลงเลิกสัญญาหมั้นด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งเมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับสู่ฐานะเดิมเหมือนไม่เคยได้ทำการหมั้นต่อกัน โดยฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย ทั้งนี้เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
      3.        บอกเลิกสัญญาหมั้นโดยอ้างเหตุตามกฎหมาย
      1.    เหตุสำคัญอันเกิดแก่คู่หมั้น (ไม่ถือว่าผิดสัญญาหมั้น)
      เหตุสำคัญต้องถึงขนาดที่ชายหรือหญิงไม่สมควรสมรสกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่คำนึงว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใด ไม่คำนึงว่าเหตุสำคัญจะเกิดก่อนหรือหลังการหมั้น
      2.      เหตุอันเกิดเพราะคู่หมั้นกระทำชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งได้กระทำภายหลังจากการหมั้น โดยกฎหมายถือเสมือนว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น
      3.     กรณีเหตุอื่นใดในทางประเวณีกับหญิงคู่หมั้น
       
      การเรียกค่าทดแทน ของหมั้นและสินสอดและอายุความ
      กรณีคู่หมั้นตาย
      ถ้าคู่หมั้นฝ่ายใดตายก่อนสมรสไม่ว่ากรณีใด  ะไม่ถือว่าผิดสัญญาหมั้นดังนั้นคู่หมั้นอีกฝ่ายไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทน นอกจากนี้หากบุคคลที่ตายนั้นเป็นหญิงคู่หมั้น  คู่สัญญาหมั้นฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกของหมั้น และสินสอดคืน
       
      กรณีผิดสัญญา หรือเสมือนว่าผิดสัญญาหมั้น
      การเรียกค่าทดแทนอันเนื่องมาการผิดสัญญาหมั้น หรือเสมือนว่าผิดสัญญาหมั้นมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันผิดสัญญา
      อายุความในการที่การเรียกร้องของหมั้นคืนมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันผิดสัญญา ส่วนการเรียกคืนสินสอดมีอายุความ 10 ปี นับวันผิดสัญญา
       
      กรณีบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยสมัครใจ
      ในกรณีที่สัญญาหมั้นได้เลิกลงโดยความสมัครใจของคู่หมั้น แต่ละฝ่ายจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ โดยหญิงคู่หมั้นต้องคืนของหมั้น และสินสอด ยกเว้นแต่จะได้มีการตกลงเป็นอย่างอื่น(สงวนสิทธิในการเรียกค่าทดแทน และไม่คืนของหมั้นและสินสอด) โดยอายุความในการเรียกคืนของหมั้นและสินสอดมีอายุความ 10 ปี
       
      กรณีบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยกฎหมาย
      ในกรณีที่สัญญาหมั้นระงับโดยการบอกเลิกสัญญาหมั้นอายุความในการเรียกค่าทดแทนมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันรู้เหตุแห่งการบอกเลิก แต่อย่างไรแล้วต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ
      ในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาหมั้นเกิดจากเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิงคู่หมั้น อายุความในการเรียกคืนของหมั้นมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันเลิกสัญญา และ การเรียกคืนสินสอดมีอายุความ 10 ปี นับวันเลิกสัญญา
       
      การสิ้นสุดการสมรส

      เมื่อมีการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วการสมรสนั้น จะสิ้นสุดลงด้วยเหตุต่าง ๆ ดังนี้
            ๑. เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย
            ๒. เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนเพราะการสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ
                (ขอให้ดูเรื่องการสมรสที่เป็นโมฆียะ)
            ๓. โดยการหย่าซึ่ง การหย่านั้น ทำได้ ๒ วิธี
                 ๓.๑ หย่าโดยความยินยอม คือ กรณีที่ทั้งคู่ตกลงที่จะหย่ากันได้เอง กฎหมายบังคับว่า
      การหย่าโดยความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย ๒ คน และถ้า
      การสมรสนั้นมีการจดทะเบียนสมรส (ตามกฎหมายปัจจุบัน) การหย่าก็ต้องไปจดทะเบียนหย่าต่อ
      นายทะเบียน ที่อำเภอหรือกิ่งอำเภอด้วย มิฉะนั้นการหย่าย่อมไม่สมบูรณ์
                 ๓.๒ หย่าโดยคำพิพากษาของศาล กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งประสงค์จะหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่ง
                      ไม่ต้องการหย่า จึงต้องมีการฟ้องหย่าขึ้น

           เหตุที่จะฟ้องหย่าได้คือ

           (๑) สามีอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
           (๒) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นความผิด อาญาหรือไม่ ถ้าความประพฤติเช่นนั้นเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
            - ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
            - ได้รับความดูถูกเกลียดชัง หากยังคงสถานะของความเป็นสามีภริยากันต่อไป
            - ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกัน
      ฉันสามีภริยา มาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ คำว่า "ประพฤติชั่ว" เช่น สามีเป็นนักเลงหัวไม้ เที่ยวรังแกผู้อื่น เล่นการพนัน หรือสูบฝิ่น กัญชา เป็นต้น
            (๓) สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหมิ่นประมาทหรือ เหยียดหยาม
      อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเป็นการร้ายแรงด้วย อีกฝ่ายจึงจะฟ้องหย่าได้
            (๔) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิด ๑ ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
      การละทิ้งร้างนี้ หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หากไม่เป็นการจงใจ เช่น
      ต้องติดราชการทหารไปชายแดน เช่นนี้ไม่ถือเป็นการทิ้งร้าง
            (๕) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกจำคุกเกิน ๑ ปี โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มี
      ส่วนในความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเห็นใจ และการเป็นสามีภริยากันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง
      ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อยเกินควร อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้
            (๖) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน ๓ ปี หรือแยกกันอยู่ ตามคำสั่งเป็นเวลา
      เกิน ๓ ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
            (๗) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือ ถิ่นที่อยู่เป็นเวลา
      เกิน ๓ ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
            (๘) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง ตามสมควร หรือทำการ
      เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง แต่การกระทำนั้นต้องถึงขนาดที่ทำให้อีก
      ฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนโดยเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
      อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
            (๙) สามีหรือภริยาเป็นบ้าตลอดมาเกิน ๓ ปี และความเป็นบ้านนั้น มีลักษณะยากที่จะ
      หายได้ และความเป็นบ้าต้องถึงขนาดที่ จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่ง
      ฟ้องหย่าได้
            (๑๐) สามีหรือภริยาทำผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือ ในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่าย
      หนึ่งฟ้องหย่าได้ เช่น สามีขี้เหล้า ชอบเล่นการพนัน ย่อมทำหนังสือทัณฑ์บนไว้กับภริยาว่า
      ตนจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก แต่ต่อมากลับฝ่าฝืน เช่นนี้ ภริยาฟ้องหย่าได้
            (๑๑) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้
      โรคดังกล่าว ต้องมีลักษณะเรื้อรัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
            (๑๒) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจ ร่วมประเวณีได้ตลอดกาล
      คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
       
      การหย่า
       
      คำว่า “หย่า” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ร้าง, เลิกเป็นผัวเป็นเมียกัน, เลิก จาก ซึ่งความหมายที่ว่า “เลิกเป็นผัวเป็นเมียกัน” ดูจะตรงกับความหมายตามกฎหมายที่สุด คือเมื่อสามีภรรยาที่สมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย จะมีการจดทะเบียนสมรสไว้ที่อำเภอหรือเขต เวลาเลิกร้างห่างเหสิเนหา หมดความเป็นสามีภรรยากันต่อไป ต้องการตัดขาดจากกันอย่างแน่นอน ก็ต้องทำพิธีกรรมที่เรียกว่า “หย่า” เสียให้ถูกต้องตามกฎหมาย
      เพราะฉะนั้นคำว่า “หย่า” ตามกฎหมายจึงหมายถึงการขาดจากการเป็นสามีภรรยา ตามวิธีการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้
      แต่ถ้าเป็นสามีภรรยาชนิดที่ไม่ได้ตีทะเบียน คือจูงมือร่วมหอลงโรงกันเองโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถึงจะจัดพิธีแต่งงานใหญ่โตหรูหราสักเพียงใด กฎหมายหมายก็หายอมรับว่าเป็นสามีภรรยากันไม่ แม้ว่าฝ่ายหญิงจะสูญเสียความเป็นสาวแก่ฝ่ายชายไปแล้ว เธอก็ยังคงมีคำว่า “นางสาว” นำหน้าชื่ออยู่นั่นเอง และก็ไม่อาจที่จะยื้อแย่งนามสกุลของฝ่ายชายมาใช้ได้ แม้ว่าฝ่ายชายจะยินยอมและยัดเยียดให้ก็ตาม
      เมื่อสิ้นรสหมดสวาทต้องการจะขาดกัน สามีภริยาประเภทนี้หาจำเป็นที่จะต้องทำพิธีกรรมการหย่าอะไรให้มันเอิกเกริกไม่ เพียงแต่เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าลากันไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
      ยังมีสามีภริยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นจำนวนมากที่เข้าใจผิด คิดว่าเวลาเลิกจากกันจะต้องไปสถานีตำรวจให้ตำรวจลงบันทึกประจำไว้ว่าทั้งสองไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินกันต่อไปจึงจะถือว่าถูกต้อง ความจริงแล้วไม่จำเป็นเลย อย่างไรก็ตาม การที่ให้ตำรวจได้รับรู้ไว้ถึงจะไม่มีผลทางกฎหมาย ก็มีผลในทางปฏิบัติกล่าวคือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหึงสาพยาบาทตอแยกันอีกไม่ได้ ถ้ามาตอแยอีกก็บอกให้ตำรวจเล่นงานได้เลย
      ทั้งนี้ การหย่ากันตามกฎหมายได้กำหนดไว้สองอย่างคือ หย่าโดยความยินยอมและหย่าโดยความดื้อรั้นดันทุรังของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องพึ่งอำนาจศาลให้ช่วยจัดการให้
      หย่าโดยความยินยอม กฎหมายให้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงชื่ออย่างน้อยสองคน และต้องไปทำการจดทะเบียนหย่าที่เขตหรืออำเภอ ซึ่งการหย่าจะมีผลนับแต่ได้มีการจดทะเบียนหย่าเป็นต้นไป แต่ถ้าไม่มีการจดทะเบียนหย่า การหย่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
      นั่นเป็นกรณีที่สามีภริยาตกลงกันได้ เรื่องก็ยุติลงอย่างง่ายๆ ไม่มีข้อยุ่งยาก แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ซึ่งก็เนื่องมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายถือทิฐิดันทุรัง ก็ต้อง "ฟ้องหย่า" คือต้องหาเหตุ หาเรื่องฟ้องหย่า ยกเว้น ข้อ 6 เพียงข้อเดียวที่ฟ้องหย่าได้ โดยไม่ต้องหาเรื่อง เพราะเป็นการหย่าโดยทั้งสองฝ่ายไม่มีความผิด เรียกว่าเป็นการหย่าเพราะสมัครใจแยกกันอยู่
       
      เหตุหย่าตามกฎหมายว่าไว้ 12 ข้อ ดังนี้
      1. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้
      2.  สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
      (ก)    ได้รับความอับอายขายอย่างร้ายแรง
      (ข)    ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาหรือฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป
      (ค)    ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
      3.  สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรงอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ฟ้องหย่าได้
      4.  สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินกว่าหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
      5.   สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสีย หรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
      6.  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
      7.  สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
      8.  สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
      9.  สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
      10. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
      11.  อีกฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
       
      12. สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
       
      การฟ้องหย่า ฝ่ายที่เสียหายมีสิทธิได้รับค่าทดแทนด้วย
       
      กรณีแรก ฟ้องหย่าเนื่องจากสามีไปอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิง
      อื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้ ฝ่ายภริยาหรือสามีก็มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยา ทั้งจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี
                      แม้ในกรณีที่ยังไม่ถึงขนาดภริยามีชู้ หรือถึงขนาดสามีไปยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เพียงแค่มีผู้มาล่วงเกินภริยาทำนองชู้สาว เช่น มีคนมากอดจูบภริยาของตน โดยภริยาสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตาม  หรือเพียงแค่มีหญิงอื่นมาแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีสัมพันธ์สวาทกับสามี อย่างนี้สามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ก็สามารถเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่มากอดจูบลูบคลำภริยาตน หรือเรียก จากหญิงที่มาเปิดเผยตัวได้
                      แต่ถ้าปรากฎว่าสามียินยอมพร้อมใจให้ภริยามีชู้ หรือยินยอมพร้อมใจให้พรรคพวกมาล่วงเกินภริยาตนในทำนองชู้สาว สามีก็เรียกค่าทดแทนไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ภริยาที่อนุญาตให้สามียกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือยอมให้หญิงแสดงตัวว่าเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง อย่างนี้ภริยาเรียกค่าทดแทนไม่ได้เช่นกัน
                      กรณีที่สอง ก็คือกรณีสามีภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ กับกรณีสามีภริยาจงใจจะทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งกรณีสามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง สามอย่างที่ว่านี้ ถ้ามีสาเหตุมาจากฝ่ายหนึ่งกลั่นแกล้งอีกฝ่ายหนึ่ง หรือมุ่งที่จะให้เกิดขึ้นเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งทนไม่ได้ ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าก็หมดสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิดได้อีกด้วย
                      ค่าทดแทนทั้งสองกรณี กฎหมายบอกว่าให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ครั้งเดียว หรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ ทั้งนี้มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นควร นอกจากนี้ ศาลก็จะดูจำนวนทรัพย์สินที่ฝ่ายซึ่งจะต้องได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่าด้วยว่าได้รับไปมากน้อยแค่ไหน
       
                ค่าเลี้ยงชีพ
                      ในกรณีหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว และการหย่าทำให้อีกฝ่ายยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากงานที่ทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ เช่น สามีทุบตีภริยาทุกวัน ก็เรียกได้ว่าสามีเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งภริยาฟ้องหย่าได้และปรากฎว่าการหย่าทำให้ภริยาเลี้ยงตัวเองไม่รอด เพราะภริยาไม่ได้ทำงาน หรือทำงานได้เงินเดือนน้อย ต้องพึ่งสามีมาตลอด ทางศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้ และฐานะของผู้รับ ถ้าปรากฎว่าหย่ากันแล้วสามีเป็นฝ่ายจนลง เพราะต้องพึ่งเงินทองของภริยาซึ่งมีฐานะดีกว่ามาตลอด อย่างนี้ศาลไม่กำหนดค่าเลี้ยงชีพให้
                      อันว่าสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนั้นเป็นอันหมดสิ้น ถ้าไม่ได้ฟ้องขอไว้ในคดีหย่า เพราะฉะนั้นถ้ามีสิทธิ เรียกร้องสิทธิด้วยมิฉะนั้นจะหมดสิทธิ
                      สมมติว่าศาลกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แล้ว ต่อมาปรากฎว่าฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพแต่งงานใหม่ สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพก็จะหมดไปทันที
                      ส่วนเรื่องอายุความสิทธิฟ้องร้องในเหตุหย่าตาม (1) (2) (3) หรือ (6) ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้กล่าวอ้างรู้หรือรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง เช่น สามีรู้ว่าภริยามีชู้แล้วไม่ฟ้อง หย่าจนพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้ความจริง สิทธิฟ้องด้วยเหตุนี้ย่อมหมดสิ้นไปทันที แต่อาจนำมาเป็นข้อสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอื่นเช่น อ้างว่าภริยาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (ถ้าเหตุหย่าข้อนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี)
                      สุดท้ายก็คือ การแบ่งสินสมรส กฎหมายบอกว่าให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่าๆ กัน ถ้าฝ่ายหนึ่งเอาสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งไปจำหน่ายเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว หรือทำให้อีกฝ่ายเสียหาย หรือไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง จงใจทำลายให้สูญไป ฝ่ายที่ได้จำหน่ายของเขาไป ต้องเอาส่วนของตนชดเชยใช้ให้จนครบ
       

    หนุ่ย
    2015-06-18 08:17:28
    ขอรบกวนหน่อยนะครับ พอดีกำลังศึกษาทางกฎหมายอยู่ครับ
    ที่ว่า การผิดสัญญาหมั้น หมายถึง การทำผิดต่อคู่หมั้นโดยไม่มีเหตุอันควร

    "ฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น โดยมอบของหมั้นให้บ้างแล้ว และสัญญาว่าจะนำของหมั้นที่ยังขาดมามอบให้อีก ถ้าไม่นำมามอบให้ตามที่ตกลง จะถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นก็ได้"

    ตรงนี้มีฎีกาอ้างอิงค์หรือเปล่าครับ....ขอบคุณครับ

    กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ