ทนายกาญจน์ (Admin)
|
เมื่อ » 2014-03-18 15:25:31 (IP : , ,171.97.220.158 ,, Admin)
Admin Edit : 2018-01-03 22:11:40
สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขาย
เมื่อสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเลิกสัญญาได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุที่จะเลิกสัญญาได้ตามข้อตกลงในสัญญาหรือตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลิกสัญญาได้ตาม บรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ ลักษณะ 2 เรื่องสัญญา หมวด 4 ว่าด้วยเลิกสัญญา
ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ไม่มีข้อตกลงให้จำเลยเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถคืนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนแก่โจทก์เป็นเจตนาที่จะเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาด้วยนั้นจำต้องรับมอบรถยนต์คืนจากจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองรถยนต์คันพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยครอบครองรถยนต์ไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาซื้อรถยนต์ตลอดมา เมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยต้องส่งมอบรถพิพาทคืนโจทก์และต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วย โดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2545
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโอเปิล หมายเลขทะเบียน 8ศ-0102 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 1,958,400 บาท ตกลงผ่อนชำระราคารวม 48 งวด งวดละ40,800 บาท จำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันและจำเลยต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์ทันที แต่จำเลยไม่ยอมคืนทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,917,600 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 370,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทน กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 370,000 บาท และต้นเงินจำนวน 1,917,600 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายรถยนต์พิพาทในราคาเงินผ่อน โดยมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วน โจทก์และจำเลยมิได้มีเจตนาผูกพันตามข้อความในแบบสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์นำมาฟ้องไม่มีผลบังคับ โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อจากจำเลย จำเลยผ่อนชำระราคารถยนต์รวม 4 งวดเหตุที่จำเลยไม่ผ่อนชำระราคาต่อไปเพราะโจทก์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยได้ สัญญาซื้อขายเงินผ่อนระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่งวดที่ 5 จำเลยส่งคืนรถยนต์แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉยไม่รับคืนจากจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคารถยนต์แทนการส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน1,958,400 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน102,465 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มิถุนายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแต่ไม่เกิน 12 เดือนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 1,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ยี่ห้อโอเปิลแบบโอเมก้า จากโจทก์จำนวน 1 คัน ในราคา 1,958,400 บาท มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อจำเลยผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว โดยตกลงผ่อนชำระราคารวม 48 งวด งวดละ 40,800 บาท ตามสัญญาเงื่อนไขราคาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไปจากโจทก์ในวันทำสัญญา ขณะทำสัญญาดังกล่าวบริษัทพระนครยนตรการ จำกัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทและเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากบริษัทพระนครยนตรการ จำกัดครั้งต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทจากบริษัทดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะยื่นฟ้องโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทและไม่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทพระนครยนตรการจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในขณะนั้นหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่ซื้อขายโดยมีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์กันนั้นผู้ขายอาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกขายล่วงหน้าได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวให้เมื่อจำเลยผ่อนชำระราคาให้แก่โจทก์ครบถ้วน แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระราคาให้โจทก์ตามกำหนดจนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา กรณีจึงต้องบังคับตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อต่อไปว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เพราะหลังจากจำเลยผ่อนชำระเงินงวดที่ 4 แล้ว จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้โจทก์ แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมรับคืนนั้น เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทโดยมีเงื่อนไขระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงให้จำเลยเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์ได้การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ โดยมีเจตนาที่จะเลิกสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่มีผลผูกพันให้โจทก์ซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาด้วยนั้นจำต้องรับมอบรถยนต์คันพิพาทคืนจากจำเลยแต่อย่างใด กรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองรถยนต์คันพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยครอบครองรถยนต์คันพิพาทไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาซื้อรถยนต์โดยมีเงื่อนไขตลอดมาเมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระค่างวดตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยต้องส่งมอบรถพิพาทคืนแก่โจทก์และต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วย โดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับราคารถยนต์ที่ต้องใช้แทนในกรณีที่จำเลยไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งที่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น นับได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246และ 247"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับราคารถยนต์ที่ต้องใช้แทนในกรณีที่ไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
( สุภิญโญ ชยารักษ์ - ไพศาล เจริญวุฒิ - ชวลิต ตุลยสิงห์ )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็น อยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ
คำพิพากษาฎีกาที่ 10711/2546
ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาท โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาให้จำเลยทราบว่าโจทก์ประสงค์จะซื้อห้องชุดพิพาทไว้ประกอบกิจการค้าขายยา จำเลยจึงได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดโดยมีข้อบังคับให้ใช้อาคารชุดพิพาทเพื่ออยู่อาศัยและขายยา ประกอบกับสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทไม่ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่านอกจากผู้ซื้อจะใช้อยู่อาศัยแล้ว ผู้ซื้อสามารถประกอบกิจการค้าชนิดใด ๆ ก็ได้ตามใจสมัคร ดังนั้น การที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทแก่โจทก์โดยมีผลทำให้โจทก์ต้องตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดใช้ห้องชุดพิพาทเป็นที่อยู่อาศัยและขายยาเท่านั้น จึงไม่อาจถือว่าจำเลยผิดสัญญา เพราะในการจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลอาคารชุดตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น ก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้จองหรือผู้ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดด้วย
หมายเหตุ ตามฎีกานี้ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์แจ้งด้วยวาจาให้จำเลยทราบว่าโจทก์ซื้อห้องชุดไว้ประกอบกิจการร้านขายยา การที่จำเลยจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดที่โจทก์จะซื้อจากจำเลยโดยมีข้อบังคับให้ใช้อาคารชุดพิพาทเพื่ออยู่อาศัยและขายยา จึงตรงตามความประสงค์ของโจทก์ที่แจ้งแก่จำเลย ดังนี้ จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะเหตุจำเลยจดทะเบียนจำกัดสิทธิการใช้ห้องชุดพิพาทของโจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6746/2547
สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยเวลาการชำระหนี้มาประมาณครึ่งปีแล้ว โดยโจทก์มิได้ชำระเงินดาวน์ให้ครบถ้วนตามสัญญา ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในกำหนดที่ตกลงเช่นกัน หนี้ที่จำเลยทวงถามเป็นเงินดาวน์งวดสุดท้ายเพียง 29,500 บาท ซึ่งโจทก์ชำระมาแล้วถึง 642,000 บาท คงเหลือเพียงการโอนกรรมสิทธิ์กันและชำระเงินที่เหลือทั้งหมดโดยวิธีกู้เงินจากธนาคารเท่านั้น ดังนั้น หนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้เงินดาวน์งวดสุดท้ายเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จะไม่ยอมชำระหนี้นั้นก็ได้ตามมาตรา 369 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญามาแล้วเท่ากับต่างฝ่ายต่างมีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดเดิม จำเลยต้องคืนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามมาตรา 391
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2549
คำว่า “มัดจำ” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะและโมฆียะ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 348,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 309,900 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าก่อสร้างที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายไปเป็นเงินจำนวน 651,748 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสาม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสาม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า เงินจำนวน 180,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 เป็นเงินมัดจำที่จำเลยทั้งสามมีสิทธิริบได้ทั้งหมดหรือไม่ และเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านจำนวน 85,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเอกสารหมาย จ.5 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 ระบุว่าในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน เดือนละ 17,000 บาท เริ่มแต่เดือนตุลาคม 2539 เป็นต้นไป งวดสุดท้ายชำระในวันที่ 2 สิงหาคม 2540 จำนวนเงิน 744,000 บาท เห็นว่า คำว่า “มัดจำ” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นแล้ว...” แสดงว่า มัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาข้อ 3 ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวจำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการดำเนินการแบ่งแยกโฉนดจนพร้อมที่จะโอนให้แก่โจทก์ และระยเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่าที่ดินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 จนถึงก่อนวันเบิกเลิกสัญญาคือวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.18 จำเลยทั้งสามต้องเสียโอกาสในการนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามเป็นเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับมัดจำ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วได้จำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือ 130,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
( บุญส่ง น้อยโสภณ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 377 เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย
มาตรา 378 มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(1) ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบหรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่งหากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใดก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น
มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็น อยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2548
โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง ซึ่งตามข้อตกลงเป็นการจะซื้อที่ดินพร้อมด้วยอาคารพาณิชย์มาเป็นของโจทก์แต่เพียงผุ้เดียวมิใช่จะซื้อส่วนเพื่อเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเท่านั้น เพราะมีผลแตกต่างกันซึ่งต้องมีการตกลงกันเป็นพิเศษโดยชัดแจ้ง จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลง ๆ ตามพื้นที่ของอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ แต่เมื่อถึงวันนัดจดทะเบียนจำเลยมิได้แบ่งแยกที่ดินพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ไปตามนัดและมีเงินพอที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จำเลยจะริบเงินที่โจทก์จ่ายแล้วทั้งหมดตามข้อตกลงในสัญญาได้ สัญญายังคงมีผลผูกพันให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้ตอบแทนกันอยู่ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในเวลาต่อมา แต่จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) และมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้จากจำเลยได้ตามมาตรา 380 อีกด้วย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงซื้อที่ดิน พร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้องจากจำเลย ราคา 5,000,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำ และชำระเงินบางส่วน รวม 520,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 4,480,000 บาท จะชำระวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่จำเลยผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินทั้งหมดและเสียค่าปรับเป็นเงิน 1 เท่า ของเงินมัดจำแก่โจทก์ รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์จำนวน 700,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2538 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 68196 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง จากจำเลยในราคา 5,000,000 บาท โจทก์ได้วางเงินมัดจำจำนวน 180,000 บาท และได้ชำระราคาบางส่วนเป็นงวด งวดละ 68,000 บาท รวม 5 งวด เป็นเงิน 340,000 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระแก่จำเลยแล้วจำนวน 520,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 4,480,000 บาท ตกลงจะชำระเงินกันในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจากจำเลยสร้างอาคารพาณิชย์เสร็จแล้วจำเลยแจ้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 แต่โจทก์ไม่ยอมไปตามกำหนดนัด โดยโจทก์อ้างว่าต้องให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 68196 ซึ่งเป็นแปลงรวมแปลงใหญ่ที่สร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 3 ห้อง ที่โจทก์จะซื้อก่อนเพื่อจะได้โอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ แล้วโจทก์จะได้จดทะเบียนจำนองแก่บริษัทอเมริกันอินเตอร์แอสชัวแรนท์ จำกัด ตามวัตถุประสงค์ที่โจทก์ต้องการซื้ออาคารพาณิชย์เพื่อทำเป็นสำนักงานของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโจทก์ไม่ต้องการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเจ้าของอาคารพาณิชย์แปลงอื่น และโจทก์ก็ได้แจ้งให้จำเลยทำการแบ่งแยกโฉนดให้แล้วเสร็จเสียก่อนวันนัดให้โจทก์ไปทำการรับโอน และแจ้งให้จำเลยทราบก่อนวันนัดแล้ว ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2539 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในวันที่ 14 มกราคม 2540 ปรากฏว่าจำเลยไม่ไปตามนัด
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่จำเลยนัด เนื่องจากโจทก์ไม่มีเงินที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเป็นแปลง ๆ เพื่อโอนให้โจทก์เป็นเรื่องที่ไม่อาจบังคับจำเลยได้เพราะตามสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยไม่มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการดังกล่าว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องถูกริบเงินที่จ่ายแล้วทั้งหมดและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างข้อ 1 ระบุว่า “ผู้ขายตกลงจะขายที่ดินตามอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง หมายเลข 7, 8, 9 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้กับผู้จะซื้อ และผู้จะซื้อตกลงจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากผู้จะขาย” และข้อ 5 ระบุว่า “หากผู้จะซื้อผิดนัดผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนรับซื้อตามกำหนดในข้อ 3 ผู้จะซื้อยอมให้ผู้จะขายริบเงินมัดจำ และเงินที่ได้ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ได้ทันที ในทางกลับกันหากผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนตามกำหนดในข้อ 3 ผู้จะขายยินยอมคืนเงินมัดจำและเงินที่ได้รับไว้แล้วทั้งหมดให้กับผู้จะซื้อทันที และผู้จะขายยอมเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวนหนึ่งเท่าของเงินมัดจำให้กับผู้จะซื้ออีกโสดหนึ่งด้วย” ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการจะซื้อที่ดินพร้อมด้วยอาคารพาณิชย์ 3 ห้อง มาเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวมิใช่จะซื้อส่วนเพื่อเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 68196 เท่านั้น เพราะมีผลแตกต่างกันซึ่งต้องมีการตกลงกันไว้เป็นพิเศษโดยชัดแจ้ง จำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลง ๆ ตามพื้นที่อาคารพาณิชย์หมายเลข 7, 8, 9 ที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงให้โจทก์ ดังนั้น เมื่อในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งเป็นวันนัดจดทะเบียน จำเลยมิได้แบ่งแยกที่ดินออกมา 3 แปลง พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย แม้โจทก์ไม่ไปตามนัดและมีเงินพอที่จะชำระราคาส่วนที่เหลือให้จำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่จำเลยจะริบเงินที่โจทก์จ่ายแล้วทั้งหมดตามสัญญาจะซื้อจะขายข้อ 5 ได้ สัญญาจะซื้อจะขายยังคงมีผลผูกพันให้โจทก์จำเลยต้องชำระหนี้ตอบแทนกันอยู่ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2539 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ในวันที่ 14 มกราคม 2540 ถึงวันนัดโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ จำเลยไม่ไปตามนัด ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงต้องคืนมัดจำแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) และโจทก์มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 5 จากจำเลยได้ตามมาตรา 380 อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
( ไพโรจน์ วายุภาพ - จิระวรรณ ศิริบุตร - เกษม เวชศิลป์ )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
มาตรา 380 ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้วก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2549
ป.พ.พ. มาตรา 369 บัญญัติว่า ในสัญญาต่างตอบแทน
|