เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 452 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-12-22
จำนวนครั้งที่ชม : 8,804,958 ครั้ง
Online : 41 คน
|
ผลและการปฏิบัติกรณีลูกจ้างประกอบกิจการแข่งกับนายจ้าง
ทนายกาญจน์ (Admin)
|
เมื่อ » 2024-06-15 14:09:12 (IP : , ,171.6.249.42 ,, Admin)
ผลและการปฏิบัติกรณีลูกจ้างประกอบกิจการแข่งกับนายจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2550
ท. มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเขตภาคเหนือของบริษัท ฮ. มีหน้าที่บริหารงานของบริษัท ฮ. ให้สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีประสิทธิภาพ รับผิดชอบโรงงานของบริษัท ฮ. ถึง 4 แห่ง แต่กลับให้ บริษัท ช. ซึ่งประกอบกิจการอย่างเดียวกันกับบริษัท ฮ จัดตั้งสำนักงานใหญ่ในบริเวณโรงงานของบริษัท ฮ. โดย อ.ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของ ท. ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ช. พฤติการณ์ของ ท. จึงเป็นปรปักษ์ต่อทางการค้าและเป็นการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีร้ายแรง บริษัท ฮ. จึงเลิกจ้าง ท. ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49
ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตราา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา
ลูกจ้างจะต้องไม่ประกอบกิจการ ที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้าง หรือไปทำงานให้คู่แข่งของนายจ้าง ในระยะเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนต้องชำระค่าเงินให้นายจ้างเป็นเงินตามอัตราที่กำหนดไว้
จุดประสงค์หลักที่นายจ้างกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ เพื่อป้องกันส่วนแบ่งการตลาด หรือ เพื่อป้องกันความลับทางการค้าของนายจ้าง เช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สูตรวิธีขั้นตอนการผลิต ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ และข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของนายจ้าง
เงื่อนไขในสัญญาจ้างดังกล่าว เรียกกันว่า Non Compete contract หรือ Non Compete clause
สัญญาลักษณะดังกล่าวทำกันในยุโรป บางประเทศ และในสหรัฐนานมาแล้ว
ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่ทำงานในวงการสื่อสารเพื่อการพาณิชย์ ของเอกชน เช่น สถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ เมื่อพ้นจากหน้าที่ในสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ของนายจ้างเดิมไม่ว่าด้วยเหตุใดฯ จะไปทำงานในสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์อื่นไม่ได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ปกติจะกำหนดไว้หนึ่งปี แต่รัฐบางรัฐ ถือว่าสัญญาลักษณะดังกล่าวเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ
สำหรับในประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามการทำสัญญาในลักษณะเช่นนี้
การพิจารณาว่าสัญญามีผลใช้บังคับหรือไม่ เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา และภายใต้บังตับของพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่ต้องมีลักษณะไม่เอาเปรียบลูกจ้างมากเกินสมควร
เงื่อนไขสัญญาจ้างดังกล่าวส่วนมาก จะกำหนดไว้ในสัญญาจ้างสำหรับลูกจ้าง ที่มีหน้าที่หรืออยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ หรือในตำแหน่งที่เข้าถึงข้อมูลความลับทางการค้าของนายจ้าง ที่ผ่านมีกรณีพิพาทตามข้อสัญญานี้เข้าสู่การพิจารณาของศาล มากพอควร และมีคดีสู้กันจนถึงศาลฎีกา. มีคำพิพากษาฎีกาที่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐาน ได้ คือ
* ข้อสัญญาห้ามทำงานให้คู่แข่งใช้บังคับได้ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
คำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2543. ที่วินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดว่า ในระหว่างการจ้างงาน หรือภายใน 5 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมา(พม่า) เกี่ยวกับกิจการขนย้ายของตามบ้านฯ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพแข่งขันกับโจทก์ โดยจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้ห้ามประกอบอาชีพปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาด จนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
*เป็นข้อสัญญาที่จำกัดสิทธิของลูกจ้าง ต้องตีความโดยเคร่งครัด.
คำพิพากษาฎีกาที่2169/2557. ที่วินิจฉัยว่า ข้อตกลงในการห้ามจำเลย ทำงานให้คู่แข่ง หลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด
เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงนั้นเป็นการห้ามมิให้ประกอบกิจการ หรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการใดๆ เอง
ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปเป็นเพียงลูกจ้างของบริษัท ซ. แม้บริษัทที่เป็นนายจ้างใหม่ของจำเลย จะเป็นบริษัทที่แข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการ หรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการ อันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญา
*เป็นข้อสัญญาที่ใช้บังคับได้ ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาที่วินิจฉัยว่าโจทก์ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งในการประกอบกิจการโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูล และความลับในทางการค้า เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ ด้วยการทำข้อตกลงกับจำเลยในการห้ามประกอบกิจการ หรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์
สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานของนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์นั้น เมื่อข้อตกลงมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 1 ปี ถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร ไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
* จำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้นายจ้างเมื่อผิดข้อห้ามทำงานให้คู่แข่ง ถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ศาลปรับลดได้
คำพิพากษาฎีกาที่7364/2558 ที่วินิจฉัยว่า หลังจากจำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ภายใน 1 ปี แล้วไปทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะทางการค้าคล้ายกัน เข้าเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง
แต่ข้อตกลงในสัญญาที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลงจำเลยยืนยอมให้โจทก์ปรับเงินจำนวน 500,000 บาท เป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามมาตรา 383
คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับสัญญาห้ามลูกจ้างทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางการค้า
1. ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2548/2533
สัญญาที่บริษัทโจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างว่าภายในกำหนดเวลา 24 เดือน นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง ลูกจ้างจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนา ทำ ผลิต หรือจำหน่าย (สุดแต่จะพึงปรับได้กรณีของลูกจ้าง) ซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทโจทก์ที่ตนได้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในระหว่างที่ทำงานกับบริษัทโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทโจทก์ สัญญาดังกล่าวไม่ได้ห้ามจำเลยทั้งสองไม่ให้กระทำโดยเด็ดขาด คงห้ามจำเลยเฉพาะสิ่งที่เป็นการแข่งขันกับงานของบริษัทโจทก์ และในส่วนของงานที่จำเลยเคยทำกับบริษัทโจทก์ ทั้งเป็นการห้ามเพียงตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดเสียทีเดียว จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในเชิงการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2543
สัญญาแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานมีว่า ในระหว่างการจ้างงานหรือภายใน 5 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงจำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์และระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามจำเลยประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้อย่างเด็ดขาด และจำเลยสามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงและนอกขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ ย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
จำเลยไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์หลังจากโจทก์เลิกจ้างแล้วภายในกำหนดเวลาห้าม อันเป็นการผิดสัญญาซึ่งจำเลยต้องรับผิด แต่ความรับผิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลยพินิจของศาลแรงงานเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่มีอำนาจกำหนดให้โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2549
ตามใบสมัครงานตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า นอกจากนี้ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 1 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ต. ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยชน์ข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท) โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า “ The preceding sentence dose not apply to lawyer engaged with the firm” คำในวงเล็บคำว่า Lawyers นั้น ย่อมหมายถึงทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพย์สินและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นตำแหน่งหน้าที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้ว โจทก์ไปทำงานกับบริษัท บ. จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานครจึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว
คดีทั้งสามเรื่องดังกล่าวศาลเพียงแต่วินิจฉัยว่า สัญญาจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานไม่เป็นโมฆะเท่านั้น ยังไม่มีประเด็นว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดได้ตามปกติหรือไม่เนื่องจากสัญญาจ้างของทั้งสามคดีทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ ใช้บังคับ
ขณะนี้มี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 14/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ฯ บัญญัติว่า “สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำงานให้นายจ้างกับลูกจ้างข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลบังคับใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี”
ดังนั้น ปัจจุบันหากมีปัญหาเรื่องจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานต้องใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ บังคับ
2. ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างผิดสัญญาจึงต้องรับผิดต่อโจทก์และความรับผิดชอบดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง จึงใช้ดุลยพินิจลดเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 ให้จำเลย ปัญหาว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่หยิบยกเอาข้อสัญญาที่ว่าจำเลยต้องไปทำงานกับโจทก์เป็นเวลา 3 ปี มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยต้องชดใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ทำให้จำเลยต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควรจึงเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น ไม่มีประเด็นเรื่องระยะเวลาที่จำเป็นต้องทำงานกับโจทก์นานเท่าใดเพราะจำเลยลาออกไปแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยน่าจะแปลความได้อยู่ในตัวว่าจำเลยประสงค์จะให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายใหม่นั้นเอง เพราะแม้จะพิจารณาโดยเอาระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญาว่าจำเลยต้องกลับมาทำงานให้โจทก์ 3 ปี เป็นตัวตั้งแล้วเห็นว่าเป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยต้องกลับมาทำงานให้โจทก์ 3 ปี เป็นตัวตั้งแล้วเห็นว่าเป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงกำหนดให้มีผลเพียง 1 ปี แล้วใช้ระยะเวลา 1 ปี เป็นหลักฐานในการคำนวณค่าเสียหายผลสุดท้ายเป็นการใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าเสียหายของศาลฎีกานั้นเอง ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงน่าจะเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 8307/2554
ป.พ.พ. มาตรา 383
ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31
นายจ้างบรรยายฟ้องว่านายจ้างจ้างลูกจ้างที่ 1 ทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่ขายสินค้าของนายจ้างประเภทกล่องบรรจุภัณฑ์ ในการทำงานตำแหน่งหน้าที่นี้ทำให้ลูกจ้างที่ 1 ทราบความลับทางการค้าของนายจ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปิดเผยความลับดังกล่าว นายจ้างจึงทำสัญญากับลูกจ้างว่าข้อมูลทางการค้าอันเป็นความลับของนายจ้างที่ลูกจ้างที่ 1 ทราบระหว่างทำงานตามสัญญา ลูกจ้างที่ 1 จะไม่เปิดเผยหรือใช้ประโยชน์ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นและภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพการเป็นพนักงานของนายจ้าง ลูกจ้างจะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงานในลักษณะหรือธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือเป็นคู่แข่งทางการค้ากับนายจ้าง หากผิดสัญญาลูกจ้างที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 200,000 บาท และหากฝ่าฝืนบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท อีกต่างหาก ถือได้ว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ กับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว หาเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมไม่
สัญญาจ้างแรงงานตามสัญญาข้อ 5 มีข้อความว่า พนักงานจะไม่กระทำการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัท ..5.1 ไปทำงานในสถานประกอบการอื่นซึ่งประกอบธุรกิจในลักษณะหรือประเภทเดียวกันกับธุรกิจของบริษัท หรือเป็นคู่แข่งทางการค้ากับบริษัท ..5.2 เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนา ทำ ผลิต หรือจำหน่ายซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท และพนักงานเคยมีส่วนเกี่ยวข้องในระหว่างที่ทำงานกับบริษัท..ข้อ 6 มีข้อความว่ากรณีที่พนักงานผิดสัญญาหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดใด ๆ ในสัญญาฉบับนี้ พนักงานยินยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทุกประการ ถ้าเป็นกรณีผิดสัญญาข้อ 5 พนักงานต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ทันทีโดยปราศจากเงื่อนไขทั้งสิ้น ข้อความตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้ห้ามลูกจ้างอย่างเด็ดขาดจึงไม่เป็นการตัดโอกาสในการประกอบอาชีพของลูกจ้างที่ 1 เสียทั้งหมด คงเป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นซึ่งไม่นานเกินควร และเป็นสัญญาที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีให้เป็นไปโดยชอบในเชิงการประกอบธุรกิจ ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่ตกเป็นโมฆะ
ศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยในคำพิพากษาว่าหลังจากลูกจ้างที่ 1 ลาออกจากนายจ้างไม่ถึง 1 เดือน ก็ไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับนายจ้างในกำหนดระยะเวลาต้องห้าม ถือว่าผิดสัญญาจ้างแรงงานต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้าง โดยไม่กำหนดให้ลูกจ้างที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้างในส่วนที่นายจ้างอ้างว่าลูกจ้างทำให้ยอดขายสินค้าของนายจ้างลดลงเพราะนายจ้างไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ว่านายจ้างได้รับความเสียหายเนื่องจากสาเหตุที่ลูกจ้างที่ 1 กระทำการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยคดีตามคำขอของนายจ้างครบถ้วนทุกข้อชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 สัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดให้ลูกจ้างที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่นายจ้าง เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
คำพิพากษาฎีกาที่ 3548/2557
ป.พ.พ. มาตรา 583
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (2) (4)
การที่ลูกจ้างดำเนินการจดทะเบียนบริษัท ท. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับกิจการของนายจ้างโดยโจทก์ (ลูกจ้าง) เป็นผู้ถือหุ้นและมีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าว ลักษณะของบริษัทที่โจทก์ (ลูกจ้าง) ดำเนินการจดทะเบียนขึ้นมาย่อมมีจุดประสงค์ที่จะให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับลูกค้าของจำเลย (นายจ้าง) และจะต้องกระทบถึงรายได้ของจำเลย (นายจ้าง) ด้วยแม้ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวจะดำเนินการอย่างใด และมิได้มีการหาประโยชน์จากสนามกอล์ฟของจำเลย (นายจ้าง) ก็ตาม แต่โจทก์ (ลูกจ้าง) เป็นพนักงานของจำเลย (นายจ้าง) ดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส มีภาระหน้าที่สำคัญในการดูแลกิจการของจำเลย (นายจ้าง) และได้รับเงินเดือนในระดับสูง การที่โจทก์ (ลูกจ้าง) ดำเนินการจดทะเบียนบริษัท ท. ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย (นายจ้าง) ในกรณีร้ายแรงอีกด้วย จำเลย (นายจ้าง) มีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ (ลูกจ้าง) ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ (ลูกจ้าง) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ (ลูกจ้า) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และ (4)
ธุรกิจการค้าปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาก ทั้งเรื่องเทคโนโลยี หรือฐานลูกค้านั้นมีความสำคัญกับการทำธุรกิจมากโดยเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมีคู่แข่งทางการค้า ความลับทั้งหลายทางธุรกิจดังกล่าวบริษัทนายจ้างมีความต้องการไม่ให้รั่วไหลไปให้ฝ่ายคู่แข่งล่วงรู้ แต่ก็มีปัญหาตรงที่ว่าเมื่อเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างไปแล้ว ลูกจ้างนั้นจะไปทำงานหรือเอาความลับไปให้คู่แข่งทางธุรกิจหรือไม่ นายจ้างจึงทำสัญญาจ้างกำหนดข้อตกลงห้ามไม่ให้ลูกจ้างไปทำงานให้กับบริษัทอื่นๆในขณะที่ทำงานอยู่หรือหลังพ้นจากเลิกสัญญาจ้างกัน ปัญหานี้มีมาทุกสมัยว่าข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวใช้บังคับได้หรือไม่ เพียงไรนั้น เรื่องขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลฎีกาได้วางแนวหลักคำพิพากษาศาลฎีกาไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2543
“สัญญาแนบท้ายสัญญาจ้างมีข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่า ในขณะที่ทำงานเป็นลูกจ้างและหลังพ้นสภาพลูกจ้างไปแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี ลูกจ้างไม่กระทำการใดหรือเข้าทำงานในบริษัทคู่แข่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง การขนย้ายและจัดเก็บสินค้าภายในประเทศไทย สาธารณรัฐเวียดนาม กัมพูชา สามธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและพม่า หากฝ่าฝืนตกลงจ่ายเงินให้นายจ้างเป็นเงิน 1,000,000 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างดังกล่าว เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับนายจ้าง โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างอย่างเด็ดขาดและลูกจ้างสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามเฉพาะประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศในแหลมอินโดจีน มิได้รวมถึงประเทศใกล้เคียงอื่นๆด้วย ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของลูกข้างเสียทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ ข้อตกลงนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
ลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับนายจ้างหลังจากนายจ้างเลิกจ้างแล้วภายในกำหนดระยะเวลาห้าม อันเป็นการผิดสัญญาซึ่งลูกจ้างต้องรับผิด แต่ความรับผิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลยพินิจของศาลแรงงงาน ”
หลักเกณฑ์ตามแนวคำพิพากษาฎีกานี้ ที่ถือว่าข้อตกลงใช้บังคับได้คือ
มีผลประโยชน์โดยชอบของนายจ้างที่จะต้องคุ้มครอง เพื่อรักษาสิทธิและประโยชน์ที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ
ห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับนายจ้าง โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน
กำหนดระยะเวลาห้ามไว้พอสมควร
หากข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าวมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพมากเกินสมควร จนลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่ควรจะเป็น ศาลมีอำนาจที่จะปรับลดข้อตกลงให้เป็นธรรมแก่คู่กรณีได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5
คำพิพากษาฎีกาที่ 8307/2554
เรื่อง 1. ข้อห้ามลูกจ้างที่ลาออกไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งโดยมีกำหนดระยะเวลาไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่เป็นโมฆะ
2. ระยะเวลาห้ามทำงานกับคู่แข่งมีกำหนดกี่ปี
3. จำนวนค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ซึ่งศาลเป็นผู้กำหนด
1. โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์รับจำเลยทำงานตำแหน่งพนักงานขาย มีข้อตกลงว่าจำเลยจะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงานเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน หากผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าเสียหาย ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 1 ลาออกอ้างว่าไปทำธุรกิจส่วนตัว ปรากฏว่ายังไม่พ้นกำหนดเวลา 1 ปี จำเลยไปทำงานกับบริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ ขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลย ทำงานกับบริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด ห้ามทำธุรกิจหรือทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากฝ่าฝืนคำสั่งห้ามให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอีก 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้าม
2. จำเลยให้การว่า
2.1 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาข้อมูลใดอันเป็นความลับทางการค้าใดของโจทก์ไปเปิดเผยแก่ลูกค้ารายใด ที่ไหน เมื่อใด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
2.2 ข้อกำหนดห้ามจำเลยไปประกอบธุรกิจหรือทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์เป็นการตัดทางประกอบอาชีพทั้งหมดเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ
2.3 ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริง และจำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
3. ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
4. จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
4.1 จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าคำฟ้องเคลือบคลุมเห็นว่า โจทก์ฟ้องใจความว่าโจทก์จ้างจำเลยทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย ทำให้จำเลยทราบความลับทางการค้าของโจทก์ เช่น ร
|
shoes
|
|
Please login for write message
|
|