การผัดฟ้องและฝางขังในศาลแขวง |
๑. ความผิดที่เกิดขึ้นศาลแขวงนั้น พนักงานอัยการจะต้องฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแขวงภายใน ๔๘ ชั่วโมง แต่ถ้าไม่อาจฟ้องผู้ต้องหาภายในเวลาดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องนำตัวผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องขอฝากขังและผัดฟ้องต่อศาล ศาลอนุญาตได้ไม่เกินคราว ๆ ละ ไม่เกิน ๖ วัน
๒. ผู้ต้องหาได้ประกันตัวชั้นสอบสวนไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาศาลเพียงแต่ยื่นคำร้อง ขอผัดฟ้องอย่างเดียว
การฝากขังในศาลอาญาหรือศาลจังหวัด |
๑. ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่และพนักงานสอบสวนไม่อาจสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน ๔๘ ชั่วโมง พนักงานสอบสวนต้องส่งผู้ต้องหามาศาลและพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ขังผู้ต้องหาไว้ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าฝากขังในกรณีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียวมีกำหนดไม่เกิน ๗ วัน แต่ถ้ามีอัตราโทษเกินกว่านี้ ศาลอาจสั่งขังได้หลาย ๆ ครั้งติด ๆ กัน แต่ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๒ วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน ๔๘ วัน เว้นแต่ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๐ ปี ขึ้นไป ศาลสั่งขังได้รวมทั้งหมดไม่เกิน ๘๔ วัน
๒. ผู้ต้องหาได้ประกันตัวชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาไม่จำต้องมาศาลจนกว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะขอฝากขัง แต่ต้องไม่เกิน ๖ เดือน นับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว หรือนำตัวผู้ต้องหานั้นมาฟ้องต่อศาล
๓. สำหรับศาลจังหวัดที่นำวิธีการพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องขอฝากผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องนั้นต่อศาลจังหวัดเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในศาลแขวง
การผัดฟ้องในศาลเยาวชนและครอบครัว |
เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุไม่ครบ ๑๘ ปี ซึ้งต้องหาว่าได้กระทำความผิดและความผิดนั้นอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว พนักงานสอบสวนจะต้องสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนให้เสร็จภายใน ๒๔ นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวนแล้วส่งตัวเด็กหรือเยาวชนมาถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เมื่อครบ ๒๔ ชั่วโมง และต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาลให้ทันภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันจับกุม หากฟ้องไม่ทันพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ศาลจะอนุญาตได้ไม่เกิน ๔ คราว คราวละไม่เกิน ๑๕ วัน
เมื่อมีการฝากขังหรือผัดฟ้อง ผู้ต้องหามีสิทธิดังนี้ |
๑. แถลงคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่ขอฝากขังหรือผัดฟ้อง
๒. ยื่นคำร้องขอขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล หากศาลอนุญาตให้ขังตามที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการร้องขอในกรณีได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจากศาล ผู้ต้องหาต้องมาศาลทุกครั้งที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังต่อ และผู้ประกันอาจยื่น คำร้องขอประกันตัวต่อไปโดยให้ถือหลักทรัพย์และสัญญาเดิม
การสู้คดีในศาล |
๑. แถลงคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่ขอฝากขัง หรือผัดฟ้อง
๒. กรณีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อนโดยศาลจะส่งสำเนาฟ้องกับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบจำเลยจะมาหรือไม่มาฟังการไต่สวนหรือ จะตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าจำเลยจะรอฟังคำสั่งศาลจำเลยควรเตรียมหลักทรัพย์มาเพื่อขอประกันตัวด้วยเพราะ หากศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาศาลอาจรับตัวจำเลยขังในระหว่างพิจารณาได้ ทางปฏิบัติศาลอาจไม่รับตัวจำเลยไว้ขังทันที แต่จะให้โอกาสจำเลยเตรียมตัวสู้คดีโดยจะนัดวันให้จำเลยยื่นคำให้การแก้คดีอีกครั้งหนึ่งในวันนัดแก้คดีจึงจะรับตัวจำเลยไว้ขังในระหว่างพิจารณา เว้นแต่จำเลยจะมีประกันตัวต่อไป
เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว หากจำเลยจะสู้คดีควรปฏิบัติดังนี้ |
๑. ยื่นคำร้องขอประกันตัว ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือชั้นฝากขังหรือไม่ก็ตาม
๒. ยื่นคำให้การต่อศาล หากจำเลยประสงค์จะให้การต่อไป
การหาทนาย |
โดยปกติจำเลยต้องหาทนายเองและเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง เว้นแต่คดีที่อัตราโทษประหารชีวิต ถ้าจำเลยไม่มีทนาย ศาลจะตั้งทนายให้ หรือคดีมีอัตราโทษจำคุกหรือคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ในวันถูกฟ้อง ถ้าจำเลยไม่มีและต้องการทนายศาลก็จะต้องทนายให้
การให้การต่อศาล |
เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ก่อนที่ศาลจะพิจารณาคดีต่อไป ศาลจะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จำเลยจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากจำเลยไม่ให้การถือว่าจำเลยปฏิเสธ
จำเลยประสงค์จะให้การควรปฏิบัติดังนี้
๑. ถ้าจำเลยกระทำผิดจริง ควรให้การรับสารภาพต่อศาล เพราะการรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างหนึ่งซึ่งโดยปกติศาลจะปราณีลดโทษให้อันเป็นผลดีแก่จำเลยที่จะได้รับโทษในสถานเบา
๒. ถ้าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือประสงค์จะต่อสู้คดีควรให้การปฏิเสธความผิด ส่วนการให้การในรายละเอียดอย่างไรจึงเป็นผลดีแก่จำเลยควรปรึกษาทนาย
๓. มีคดีบางประเภทกฎหมายยกเว้นโทษให้ บางกรณีกฎหมายถือว่าไม่เป็นความผิด บางกรณีกฎหมายถือว่าเป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษบางกรณีกฎหมายให้อำนาจศาลจะลงโทษน้อยกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหรือบางกรณีกฎหมายลดมาตรส่วนโทษให้ เช่น การกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ การกระทำด้วยความจำเป็น การกระทำโดยบันดาลโทสะ บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดานหรือผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี หรือพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
กระทำต่อกันหรือหรือในคดีที่เด็กอายุไม่เกิน ๑๗ ปี เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นจำเลยจะให้การอย่างไรเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขของกฎหมายควรจะปรึกษาทนาย
การขอให้ศาลรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ |
๑. ให้คดีความผิดซึ่งศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าปรากฏว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุประวัติความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้นหรือสภาพ
ความผิดหรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว ศาลอาจจะรอการลงโทษหรือการกำหนดโทษจำเลยก็ได้ อันเป็นผลดีแก่จำเลยที่จะไม่ต้องรับโทษจำคุก
๒. จำเลยที่จะประสงค์จะขอให้ศาลรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษควรเตรียมหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ ฯลฯ ดังกล่าวในข้อ ๑ ที่มีอยู่มาให้พร้อม และยื่นต่อศาลเพื่อประกอบใช้ดุลพินิจของศาล เช่น เรื่องอายุของจำเลยก็ควรมีสูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชนมาแสดง ถ้าเป็น
นักเรียนก็ควรมีใบรับรองจากโรงเรียน ถ้าเป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ก็ควรมีคำรับรองจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง หรือถ้าหากเป็นกรณีที่มีการชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยก็ควรนำผู้เสียหายมาแถลงต่อศาลด้วย หากนำมาไม่ได้จริง ๆ ก็ควรมีบันทึกข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายซึ่งพนักงานสอบสวนทำไว้หรือให้พนักงานอัยการโจทก์รับรองว่า
เป็นจริง
๓. ในบางคดีศาลอาจมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนพิพากษาเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความประพฤติของจำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี ฯลฯ นำมาประกอบในการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลย ระหว่างการสืบเสาะจำเลยจะต้องถูกขังไว้ในเรือนจำ จึงควรเตรียมหลักทรัพย์มาขอประกันตัวต่อศาล
การพิจารณาคดีอาญาในศาลต้องทำต่อหน้าจำเลย |
การพิจารณาและการสืบพยานในคดีอาญานั้น ศาลต้องกระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยจึงต้องมาศาลทุกนัดที่มีการพิจารณาคดีเรื่องที่ตนถูกฟ้อง เว้นแต่
๑. ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๑๐ ปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน
๒. ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจตามคำแถลงของโจทก์ว่าการพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใดศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้
๓. ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่ง ๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้
๔. ในกรณีที่มีการส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่นหรือการเดินเผชิญสืบนอกศาล จำเลยจะไปฟังการพิจารณาหรือไม่ก็ได้
หน้าที่นำสืบ |
ในคดีอาญากฎหมายสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำผิด ดังนั้นโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยต้องนำสืบก่อนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแล้วจำเลยจึงนำสืบแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ เมื่อมีความสงสัยความสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่
ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
ค่าธรรมเนียม |
ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาในศาล จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดทั้งสิ้น เว้นแต่ค่ารับรองสำเนาในเอกสาร
การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง |
โดยปกติศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยฟัง จำเลยจึงต้องมาฟังตามวันเวลาที่ศาลนัด ถ้าจำเลยไม่มาฟังและศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจงใจหลบหนี หรือจงใจไม่มา ศาลจะออกหมายจับจำเลย ถ้ายังไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน ๑ เดือน นับแต่วันออกหมายจับ ศาลอาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นลับหลังจำเลยได้โดย
ถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว
การอุทธรณ์หรือฎีกา |
๑. เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าเป็นคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือต้องห้ามฎีกา โจทก์จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา โดยยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลชั้นต้น ภายในกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณีให้จำเลยฟัง
คดีจะอุทธรณ์หรือฎีกาได้หรือไม่ ควรปรึกษาทนายความ
๒. กรณีที่จำเลยถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ จำเลยอาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อพัศดีภายในกำหนดอายุอุทธรณ์หรือฎีกาเพื่อให้พัศดีส่งไปยังศาล
๓. กรณีที่โจทก์อุทธรณ์หรือฎีกา หากศาลส่งสำเนาอุทธรณ์หรือสำเนาฎีกาให้จำเลยไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือจำเลยหลบหนีหรือจำเลยจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์หรือสำเนาฎีกาก็ตาม ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป แต่หากจำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์หรือฎีกาของโจทก์แล้วจำเลยจะแก้หรือไม่ก็ได้หากจะแก้ต้องแก้ภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันรับสำเนาอุทธรณ์หรือฎีกา
๔. จำเลยจะให้ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่ศาลแทนตนก็ได้ แต่ถ้าจำเลยและทนายต่างยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาด้วยกัน ศาลจะเรียกจำเลยมาสอบถามให้เลือกเอกอุทธรณ์หรือฎีกาฉบับหนึ่งฉบับใดเพียงฉบับหนึ่ง
๕. เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโมษจำคุกจำเลย หากเป็นคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาจำเลยต้องยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมคำฟ้องหรือฎีกา โดยยื่นต่อศาลชั้นต้น แต่ถ้าหากจำเลยทำคำฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกายังไม่เสร็จจำเลยต้องทำคำร้องว่าจะอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาพร้อมกับยื่นคำร้อง ขอประกันตัวต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอาจจะสั่งเรื่องประกันนั้นเองหรือส่งไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่งเมื่อศาลชั้นต้นได้รับอุทธรณ์หรือฎีกาของจำเลยแล้ว
เมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยมีสิทธิอย่างไร |
เมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยได้รับโทษอย่างใด จำเลยมีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอรับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษหรือหยุดการบังคับโทษ โดยจำเลยหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องต้องยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถ้าหากจำเลยต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถวายเรื่องราวได้เพียงครั้งเดียวภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษา
จำเลยต้องโทษประหารชีวิตจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวได้เพียงครั้งเดียวภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษา
ส่วนโทษอย่างอื่นจะยื่นทูลเกล้าฯ เมื่อไรก็ได้ แต้ถ้าถูกยกหนหนึ่งแล้วจะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้น ๒ ปี นับแต่วันถูกยกครั้งก่อน
โทษทางอาญา |
๑. โทษทางอาญามีอยู่ ๕ สถานคือ โทษประหารชีวิต โทษจำคุก โทษกักขัง โทษปรับ และโทษริบทรัพย์สินโทษประหารชีวิต จำเลยจะถูกประหารชีวิตก็ต่อเมื่อพ้น ๖๐ วัน นับแต่วันฟัง คำพิพากษาอันถึงที่สุด เว้นแต่จำเลยจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวขอให้พระราชทานอภัยโทษก็จะได้รับการรอการประหารชีวิตไว้จนกว่าจะพ้น ๖๐ วัน
นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง แต่ถ้าทรงยกเรื่องราวนั้นเสียก็จะดำเนินการประหารชีวิตได้เลย
๒. จำเลยที่ต้องโทษจำคุกจะถูกขังไว้ในเรือนจำ การคำนวณระยะเวลาจำคุกจะนับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าด้วยและนับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่คำนึงจำนวนชั่วโมง
ถ้าระยะเวลาจำคุกกำหนดเป็นเดือนก็นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ก็คำนวณตามปีปฏิทิน
๓. โทษกักขัง จำเลยจะถูกกักขังไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้ แต่มิใช่เรือนจำโดยปกติจะนำไปกักขับที่สถานีตำรวจหรือถ้าเจ้าพนัะกงานตำรวจเห็นสมควร ก็อาจจะส่งตัวไปกักขังไว้ ณ สถานกับขังกลาง จังหวัดปทุมธานีก็ได้ หรือถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจสั่งในคำพิพากษาให้กักขังไว้ในที่อาศัยของจำเลยเอง
หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับจำเลยไว้
๔. โทษปรับ ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายใน ๓๐ วัน นับแต่ที่พิพากษาจะถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือจะถูกขังแทนค่าปรับหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ในวันฟังคำพิพากษา ศาลอาจสั่งให้กักขังแทนค่าปรับทันที โดยถือว่าเป็นการกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อน เว้นแต่จำเลยจะขอประกันตัวเพื่อหาเงินมาชำระค่าปรับ
การกักขังแทนค่าปรับถืออัตรา ๗๐ บาท ต่อหนึ่งวันและนับวันแรกเป็นหนึ่งวันเต็ม โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมงในกรณีที่จำเลยชำระค่าปรับศาล จะคิดหักวันที่จำเลยถูกคุมขัง มาก่อนออกจากจำนวนเงินค่าปรับไม่ว่าจำเลยจะถูกคุมขังที่สถานีตำรวจหรือเรือนจำการ
กักขังแทนค่าปรับนั้น ไม่ว่าค่าปรับจะมากเพียงใด ห้ามศาลสั่งกักขังเกิน ๑ ปี เว้นแต่ค่าปรับตั้งแต่ ๔๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไปศาลจะสั่งกักขังเกินกว่า ๑ ปี แต่ไม่เกิน ๒ ปี ก็ได้
. ๕.โทษริบทรัพย์ เป็นโทษซึ่งกระทำแก่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดและทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำผิด เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงอาจยื่นคำร้องขอคืนต่อศาลได้ การยื่นคำร้องขอทรัพย์สินคืนนี้โดยปกติยื่นได้ภายในกำหนด ๑ ปี
ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด เช่น ปืนเถื่อน ฝิ่นหรืเฮโรอีน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นของผู้ใด ศาลจะสั่งริบทั้งสิ้น |