0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 452 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-12-22
จำนวนครั้งที่ชม : 8,781,903 ครั้ง
Online : 92 คน
Photo

    ผลของการเลิกสัญญา


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2021-06-26 15:34:43 (IP : , ,49.49.240.165 ,, Admin)
    Admin Edit : 2021-06-26 15:35:21
    See the source image
                                                   ผลของการเลิกสัญญา
     ป.พ.พ. มาตรา 391 บัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม.........”
     1. การกลับคืนสู่ฐานะเดิมของคู่สัญญา ศาลฎีกาวางหลักไว้ในกรณีทรัพย์สินที่ส่งมอบ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1195/2511      
    ป.พ.พ. มาตรา 224, 380, 383, 387, 391, 562, 572, 574
    ป.วิ.พ. มาตรา 125, 172, 183 
    สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ถ้าจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัด โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองรถและเลิกสัญญาได้ เงินที่ส่งชำระมาแล้วยอมให้โจทก์ริบ ค่าเช่าที่ยังค้างอยู่จะชำระให้จนครบ ส่วนค่าเสียหายจำเลยยอมรับผิดชอบ รถที่คืนจำเลยยินยอมให้โจทก์จำหน่าย หากได้ราคาไม่ครบถ้วน จำเลยต้องชดใช้เงินที่ขาด ความตอนท้ายที่เกี่ยวกับการให้จำหน่ายรถนั้น เป็นวิธีการกำหนดและชดใช้ค่าเสียหายอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อจำหน่ายรถ จะทราบจำนวนค่าเสียหายที่แน่นอน แม้ยังไม่จำหน่ายรถ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายซึ่งจำเลยต้องรับผิดอยู่แล้ว โดยพิสูจน์ได้จากพยานหลักฐาน
    กรณีจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 มิได้บัญญัติให้สิทธิโจทก์โดยแจ้งชัดนอกเหนือไปจากการกลับเข้าครองทรัพย์สินและริบเงินที่จำเลยส่งแล้ว ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจนเต็มจำนวนด้วย ก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้แล้วก่อนเลิกสัญญา
    แม้จำเลยจะผิดนัด หากโจทก์เรียกร้องเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเพียงค่าเสียหาย ซึ่งตามปกติคือดอกเบี้ย เว้นแต่จะพิสูจน์ความเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วย ไม่ใช่โจทก์เรียกร้องได้ทั้งเงินค่าเช่าซื้อเต็มจำนวน แล้วยังเอารถกลับคืนทั้งคันเป็นสองต่อ
    เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 มิได้บัญญัติไว้ ย่อมแสดงว่ากฎหมายประสงค์ปล่อยให้ความรับผิดของจำเลยอยู่ภายใต้บทบัญญัติในเรื่องหนี้โดยทั่วไป กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน เพราะจำเลยไม่ชำระหนี้ จนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา
    เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คำมั่นจะขายที่โจทก์ให้ไว้ย่อมสิ้นไปโจทก์จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเต็มจำนวนดุจเป็นค่าตอบแทนการโอนกรรมสิทธิ์ในรถเสมือนราคาไม่ได้ คงมีสิทธิเรียกได้เพียงค่าที่จำเลยที่จำเลยได้ใช้รถของโจทก์มาตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังครอบครองรถของโจทก์อยู่เท่านั้น
    หากรณีที่คืนมาเสียหาย ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดนอกเหนือจาการใช้รถโดยชอบ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อเหตุนั้นได้
    สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ที่ว่า ให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินที่ยังค้างส่งเต็มจำนวนทั้งให้จำเลยรับผิดในความเสียหายเนื่องจากเลิกสัญญาด้วยนั้น เป็นขอสัญญาที่ระบุความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ข้อสัญญาที่กำหนดค่าเช่าตามปกติ หรือค่าใช้ทรัพย์โดยแท้ แต่รวมราคาขายรถไว้ส่วนหนึ่งด้วย แต่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้
    แม้สำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องขาดข้อความที่ว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในการที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ผัดผ่อนเวลาชำระหนี้ ไม่ตรงกันกับต้นฉบับซึ่งมีข้อความดังกล่าว เมื่อโจทก์อ้างส่งต้นฉบับเป็นพยาน จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริง ศาลย่อมรับฟังต้นฉบับสัญญาค้ำประกันได้ ไม่เป็นการนอกประเด็นในคำฟ้อง เพราะคำฟ้องก็มีข้ออ้างให้จำเลยต้องรับผิดในฐานผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว
    (ปัญหาตามวรรคสองถึงวรรคหก วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 20/2511 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2511)
     2. เงินที่ชำระแก่กันตามสัญญา เมื่อมีการบอกเลิกสัญญา ผู้รับเงินต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับเงินไว้ ถ้ามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 การคืนเงินในกรณีเลิกสัญญาตามมาตรา 391 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 224 ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด
     3. เมื่อมีการเลิกสัญญา การงานที่ได้กระทำให้แก่กันตามสัญญาซึ่งโดยสภาพไม่อาจคืนได้ ต้องใช้เงินแทนตามสมควรแก่ค่าของงานนั้น ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 175/2521      
    ป.พ.พ. มาตรา 391
     โจทก์ทำสัญญาตกลงกับจำเลย ให้จำเลยสร้างโรงภาพยนตร์และตึกแถวลงในที่ดินของโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเองโดยโจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่ามีกำหนด 20 ปี จำเลยผิดสัญญาในการก่อสร้างตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยโดยชอบแล้ว ดังนี้ สัญญาและข้อผูกพันต่าง ๆ ในสัญญาก่อสร้างต้องสิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเช่าหรือครอบครองโรงภาพยนตร์และตึกแถวตามสัญญานั้นอีกต้องคืนที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ส่วนโจทก์ก็ต้องชดใช้ค่าก่อสร้างอันเป็นผลงานที่จำเลยสร้างลงไปให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม
     4. การยอมให้ใช้ทรัพย์สินตามสัญญา เมื่อมีการเลิกสัญญาโดยสภาพไม่อาจคืนให้แก่กันได้จึงต้องชดใช้เงินแทนตามสมควรแก่ค่าของการใช้ทรัพย์นั้น ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 336/2518      
    ป.พ.พ. มาตรา 164, 391
    ป.วิ.พ. มาตรา 94 
     จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อกันได้มีข้อตกลงกันเป็นพิเศษด้วยว่า หากจำเลยไม่ได้ดำเนินกิจการบรรทุกน้ำมัน โจทก์รับรถคืนพร้อมกับริบเงินที่จำเลยชำระในงวดแรกโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ เจตนาของคู่กรณีไม่ได้ถือสัญญาเช่าซื้อเป็นสำคัญ เช่นนี้เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
     จำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้องวดแรกบางส่วนในวันทำสัญญา แล้วผิดสัญญาไม่ได้ชำระอีกเลย โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยต้องชดใช้ค่าที่โจทก์ยอมให้ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ทรัพย์อยู่ในความครอบครองของจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม
     โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อโดยอาศัยค่าเช่าที่โจทก์อาจนำทรัพย์ที่เช่าซื้อไปให้เช่าเป็นเกณฑ์คำนวณมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่ใช่ 5 ปี ตามมาตรา 165
     5. การเลิกสัญญาต้องมีเหตุตามมสัญญาหรือเหตุตามกฎหมาย ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 38/2517      
    ป.พ.พ. มาตรา 369, 378, 386, 391, 456
    ป.วิ.พ. มาตรา 172, 183
      จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ โจทก์วางมัดจำ 3,000 บาทค่าที่ดินตกลงชำระกันเป็นงวด ๆ เมื่อได้ชำระค่าที่ดินไปบ้างแล้ว โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินและเช็คที่ได้ชำระค่าที่ดินไปตามสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาท้ายฟ้อง อ้างเหตุแตกร้าวที่โจทก์ถูกตำรวจจับเรื่องอายัดเช็ค ทั้งหาว่าจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถไปโอนโฉนดให้แต่ตามฟ้องโจทก์หาได้กล่าวอ้างตั้งประเด็นว่า จำเลยทำผิดสัญญาแต่ประการใดไม่ กลับอ้างว่าจำเลยไม่สุจริตพยายามกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอับอายโดยถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัว จึงไม่ประสงค์ซื้อที่ดินต่อไป ดังนี้แสดงว่า เหตุเลิกสัญญาไม่ใช่เกิดจากจำเลยทำผิดสัญญาข้อใด ๆ แต่เป็นเพราะโจทก์ไม่พอใจจำเลย จึงไม่ต้องการซื้อที่ดินเท่านั้น
    การเลิกสัญญานอกจากจะได้ระบุไว้ชัดในสัญญาว่า ให้เลิกกันได้อย่างไรแล้วก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387, 388, 389 และมาตรา 466 ฯลฯ แม้ตามสัญญาจะระบุว่า ถ้าผู้ซื้อ(โจทก์)ผิดสัญญาโดยไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ซื้อยอมให้ผู้ขาย(จำเลย)ริบเงินมัดจำก็เป็นแต่ข้อสัญญาที่ให้ถือปฏิบัติไปตามมาตรา 378 นั่นเอง จะแปลเลยไปถึงกับว่าเมื่อโจทก์แสดงเจตนาไม่ซื้อที่ดินแล้วเท่ากับผิดสัญญาแล้วหาได้ไม่ เพราะการทำผิดสัญญาก็ยังไม่เกิดขึ้นสัญญาข้อนี้ไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้อย่างใด การที่โจทก์บอกปัดเลิกสัญญาเสียตามชอบใจไม่มีผลให้สัญญาจะซื้อขายระงับสิ้นความผูกพันต่อกัน โจทก์จะเรียกร้องเอาค่าที่ดินที่ชำระไปแล้วคืนโดยอาศัยสิทธิเรียกเงินคืนจากการเลิกสัญญาตามมาตรา 391 ไม่ได้
    สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาจะต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองฝ่ายพร้อม ๆ กันตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369 จำเลยจะบังคับให้โจทก์ชำระค่าที่ดินไปก่อนทำการโอนตลอดจนส่งมอบที่ดินคืนตามฟ้องแย้งไม่ได้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 2656/2519      
    ป.พ.พ. มาตรา 850
      โจทก์มีอำนาจยึดและอายัดทรัพย์สินของ ต. ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ขออายัดเงินที่มีผู้นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่ ต. แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอให้ยึดเงินจำนวนนั้นไว้ก่อนแล้ว โจทก์ จำเลยจึงตกลงกันตามบันทึกว่า จำเลยไม่มีสิทธิในเงินจำนวนนี้เพราะจะต้องตกเป็นของรัฐตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ และจะไปถอนการยึดภายใน 15 วัน ดังนี้ บันทึกของจำเลยจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850
     บันทึกอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายที่ต้องรับผิดไว้แล้วย่อมใช้บังคับได้ ดังนั้น จำเลยจะบอกเลิกข้อตกลงด้วยการแสดงเจตนามาฝ่ายเดียว โดยไม่มีเหตุที่จะบอกเลิกสัญญาไม่ได้
     จำเลยฎีกาว่า บันทึกของจำเลยเป็นสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ แต่มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างไร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
     6. การแสดงเจตนาเลิกสัญญาไม่มีแบบ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 853/2522      
    ป.พ.พ. มาตรา 386 
    ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขายนาว่า  ถ้าจำเลยผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบโจทก์เรียกนาและคืนเงินได้  ฉะนั้นเมื่อจำเลยชำระราคาไม่ครบ  โจทก์ขอคืนเงินที่จำเลยชำระแล้ว และเรียกคืนที่ดิน ถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว
    สัญญาทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาเลิกสัญญาไม่ต้องทำเป็นหนังสือ
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1129/2504      
    ป.พ.พ. มาตรา 340, 386, 456 
    การตกลงเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และคืนเงินมัดจำกันนั้นไม่ใช่เป็นการปลดหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นเพียงแต่มีการแสดงเจตนาต่อกัน ก็ย่อมสมบูรณ์
     7. การเลิกสัญญาอาจเกิดขึ้นโดยปริยาย ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 2240/2523      
    ป.พ.พ. มาตรา 378 (3), 387, 388, 391 
    ในขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกัน ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ทราบว่ามีผู้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่จะซื้อขายกันนี้ และตามสัญญาดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระเงินค่าที่ดินงวดสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน 2517แล้วจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทันที แต่ในระหว่างนั้นปรากฏว่าจำเลยกำลังเป็นความอยู่กับผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ จำเลยจึงไม่มีทางที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้ไม่ว่าโจทก์จะชำระหนี้ตามกำหนดหรือไม่ ทั้งต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายแล้วต่างฝ่ายต่างก็เพิกเฉยต่อกัน โดยโจทก์ไม่ได้ขอชำระหนี้และให้จำเลยโอนที่ดินให้ ส่วนจำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ตามกำหนดต่างฝ่ายต่างปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาเป็นเวลา 3 ปีเศษ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์พฤติการณ์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าต่างฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว สัญญาจะซื้อขายที่ดินที่โจทก์จำเลยทำกันไว้จึงไม่มีผลผูกพันต่อไปโจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1507/2512      
    ป.พ.พ. มาตรา 369, 371, 386, 388, 850 
    จำเลยกล่าวหาว่าบิดาโจทก์ยักยอกไม้  เพื่อระงับข้อพิพาทโจทก์ผู้เป็นบุตรได้เข้าทำสัญญาแทนบิดายอมส่งไม้ให้จำเลย โดยจำเลยจะชำระเงินค่าไม้  โจทก์จึงตกอยู่ในฐานะเป็นคู่กรณีกับจำเลย สัญญานี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามสัญญาโจทก์จำเลยมีหน้าที่ชำระหนี้ต่างตอบแทนซึ่งกันและกันครั้นเมื่อโจทก์ส่งไม้มาตามสัญญา ไม้เสื่อมคุณภาพเพราะความผิดของโจทก์ที่ชักลากไม้ล่าช้า การชำระหนี้จึงกลายเป็นไร้ประโยชน์แก่จำเลย  เมื่อจำเลยบอกปัดไม่รับมอบไม้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาแล้ว  โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยรับไม้และชำระเงินไม่ได้
     8. สัญญาเมื่อเกิดแล้วจะไม่เลิกเอง หากประสงค์จะเลิกสัญญาต้องบอกเลิก ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 389/2499      
    ป.พ.พ. มาตรา 204, 387 
     ในสัญญาบ่งว่าก่อนที่จำเลยจะส่งไม้ลงเรือเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องไปทำการวัดตรวจไม้กำหนดเครื่องหมายก่อนเมื่อโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนแล้วและจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่กลับปรากฏว่าจำเลยเตรียมเลื่อยไม้ไว้ตามสัญญาแล้วหากโจทก์ไม่ส่งคนไปวัดไม้จนกระทั่งจำเลยได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำแล้วโจทก์ยังมีหนังสือขอความเห็นใจให้จำเลยผ่อนผันยืดอายุสัญญาต่อไปอีกเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเองจำเลยจึงไม่ชำระหนี้ เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบหาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่
     มาตรา 204 เป็นเรื่องลูกหนี้ผิดนัดเป็นคนละเรื่องกับการบอกเลิกสัญญาซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม มาตรา387
    9. แม้มาตรา 391 จะเป็นกรณีการเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียวแล้วกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่อย่างไรก็ตามการเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาตกลงกันก็ต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1950/2515      
    ป.พ.พ. มาตรา 76, 215, 224, 391, 820, 1167
    ป.วิ.พ. มาตรา 94, 142 
    จำเลยทำสัญญากับโจทก์  ให้โจทก์เช่าห้องในโรงแรมจำเลยตามสัญญากำหนดว่าโจทก์จะต้องเสนอแบบแปลนการตบแต่งห้องให้จำเลยอนุญาตและทำตามที่จำเลยอนุมัติ  หาไม่ให้จำเลยเลิกสัญญาและริบเงินประกันการเช่าได้  แม้จะปรากฏว่าโจทก์เข้าไปจัดการตบแต่งห้อง โดยไม่ได้เสนอแบบแปลนต่อจำเลยเสียก่อน  แต่การที่จำเลยมอบกุญแจห้องให้โจทก์เข้าไปตบแต่งห้องและมีคนของจำเลยเข้าไปบงการดูแลในการตบแต่ง ทั้งจำเลยก็กระทำกิจการอยู่ในที่แห่งเดียวกัน  ปล่อยให้โจทก์ตบแต่งห้องได้ โดยไม่คัดค้านประการใด  พฤติการณ์แวดล้อมดังนี้เป็นปริยายว่าจำเลยได้อนุญาตให้โจทก์เข้าตบแต่งห้องเช่าได้ โดยไม่ต้องยื่นแบบแปลนแล้ว  จำเลยจะกลับมาอ้างว่าโจทก์ทำผิดสัญญา  ไม่เสนอแบบแปลนก่อนตบแต่งหาได้ไม่
    จำเลยขัดขวางไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาให้เช่าและเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจนโจทก์ต้องมาฟ้องเรียกเงินประกันการเช่าคืนและเรียกค่าเสียหาย  ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมเลิกการเช่ากับจำเลยแล้ว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในเงินประกันการเช่าที่จะได้คืนจากจำเลยนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเงินนั้นไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อโจทก์ขอเพียงนับตั้งแต่วันที่จำเลยบอกเลิกสัญญา ศาลย่อมพิพากษาให้เพียงเท่าที่โจทก์ขอส่วนดอกเบี้ยในเงินค่าเสียหายโจทก์เรียกได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัด  เมื่อไม่ปรากฏวันผิดนัดแน่นอน ศาลย่อมคิดให้นับแต่วันฟ้อง
    กรรมการทำสัญญาในฐานะผู้แทนของบริษัทจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว
    คำพิพากษาฎีกาที่ 455/2506      
    ป.พ.พ. มาตรา 391, 605, 820 
     จำเลยจ้างโจทก์เป็นทนายฟ้องคดีและว่าความในศาลชั้นต้นชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ครั้นโจทก์ฟ้องคดีและว่าความในศาลชั้นต้นไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนโจทก์จากการเป็นทนาย โจทก์แถลงไม่คัดค้านศาลฟังว่าการเลิกสัญญาเกิดจากการตกลงกัน คู่สัญญายังมีสิทธิที่จะได้คืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมโดยวิธีการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรค 2,3,4 โดยเฉพาะก็คือ วรรค 3 จำเลยต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานของโจทก์ และต้องคิดค่าจ้างตามรูปคดี หาใช่คิดแต่จำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องไม่
     ตัวแทนจ้างโจทก์แทนตัวการ. ตัวการต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ผู้เดียวตัวแทนหาต้องรับผิดด้วยไม่
    10. คู่สัญญาตกลงกันว่า เมื่อเลิกสัญญากันแล้วไม่ต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมย่อมกระทำได้ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3005-3006/2517       
    ป.พ.พ. มาตรา 215, 368, 379, 381, 386, 587, 593, 797 
    กรมราชทัณฑ์จำเลยจ้างเหมาโจทก์ให้ก่อสร้างตึกโรงพิมพ์ แม้จะปรากฏว่าในการก่อสร้างรายนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ข้าราชการของกรมโยธาเทศบาลเข้าร่วมเป็นกรรมการอำนวยการสร้าง  กรรมการเปิดซองประกวดราคา และกรรมการอื่นอีกหลายคณะ  แต่ก็เป็นกรรมการเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชา  เพื่อให้งานก่อสร้างของทางราชการดำเนินไปโดยเรียบร้อย หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบหมายหรือแต่งตั้งให้ข้าราชการกรมโยธาเทศบาลหรือกรมโยธาเทศบาลเป็นตัวแทนของจำเลย  หรือเป็นคู่สัญญาแทนจำเลยไม่การที่คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคา  โดย ธ. หัวหน้ากองก่อสร้างกรมโยธาเทศบาลขอให้โจทก์ลดเวลาก่อสร้างลง ซึ่งโจทก์ยินยอมโดยขอให้กองก่อสร้างอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัสดุในการก่อสร้างบางอย่างให้นั้น  จึงหาใช่เงื่อนไขอันหนึ่งซึ่งเสมือนสัญญาที่จะผูกพันให้จำเลยต้องปฏิบัติตามไม่
    โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา  และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ตามสัญญาให้อำนาจจำเลยริบการงานที่ทำไว้แล้วได้รวมทั้งจัดให้ผู้อื่นเข้าทำการงานนั้นต่อไป โดยผู้รับจ้างเหมายอมใช้ค่าเสียหายให้ทั้งสิ้น  ดังนั้นบรรดาสัมภาระและวัสดุที่เหลืออยู่ในที่ก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของการงานที่โจทก์ทำค้างไว้  จำเลยจึงมีสิทธิที่จะริบได้ ส่วนเครื่องผสมคอนกรีตมิใช่การงานที่ได้ทำไว้ แต่เป็นเครื่องใช้หรือเครื่องมือในการประกอบการงานของโจทก์เท่านั้น  จำเลยหาอาจริบได้ไม่
    11. โจทก์ผิดสัญญาแล้วไปบอกเลิกสัญญากับจำเลย ปรากฏว่าจำเลยยอมเลิกสัญญาด้วยผลเป็นไปตามฎีกานี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 2511/2516      
    ป.พ.พ. มาตรา 222, 379, 380, 386 
    เมื่อทั้งโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจตกลงเลิกสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกันแล้ว โจทก์จะมาขอให้ศาลบังคับเรียกค่าปรับจากจำเลยและขอให้จำเลยจัดการโอนที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์ในภายหลังอีกหาได้ไม่
    จำเลยจะฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายเพราะต้องถูกริบเงินมัดจำตามสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นค่าเสียหายพิเศษที่โจทก์ไม่อาจจะคาดคิดหาได้ไม่
    ดอกเบี้ยที่จำเลยต้องเสียให้แก่ธนาคาร ไม่ว่าจะมีการเลิกสัญญาซื้อขายที่พิพาทหรือไม่นั้น มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาอันจำเลยจะเรียกร้องจากโจทก์ได้
    12. ในการเลิกสัญญานั้น มีคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจต้องทราบดังต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 2568/2521      
    ป.พ.พ. มาตรา 215, 222, 386, 387, 391 
    สัญญาก่อสร้างตึกแถวมีข้อความว่า ผู้ก่อสร้าง (จำเลย) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขับไล่ผู้อยู่อาศัยที่ยังเหลืออยู่อีกสองรายในที่ดิน ส่วนที่ผู้ให้ก่อสร้าง (โจทก์) ชนะคดีแล้วนั้น  ผู้ให้ก่อสร้างรับผิดชอบขับไล่ให้โดยบังคับคดีภายใน 20 วันนับแต่วันทำสัญญา ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีแล้ว  ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีให้ผู้เช่าออกจากตึกแถวแล้วตามสัญญามิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องขับไล่ผู้เช่าออกไปจากตึกแถวภายใน 20 วันนับแต่วันทำสัญญา  ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นได้ว่าการทำสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์จำเลยมิได้มุ่งเรื่องเวลาเป็นข้อสารสำคัญ หากแต่มีเจตนาผ่อนปรนซึ่งกันและกันตามสมควร
    ในกรณีผิดสัญญา สิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญานั้นมีอยู่สองประการ คือ บังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้ประการหนึ่ง  กับบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายอีกประการหนึ่ง  คดีนี้โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วย่อมจะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้  การที่โจทก์อ้างว่าถ้าจำเลยสร้างตึกแถวเสร็จโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์และได้ค่าเช่านั้น  เท่ากับโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา  โจทก์จึงไม่มีสิทธิ  แต่การที่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับค่าหน้าดินตามสัญญา ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้จึงควรเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว
    คำพิพากษาฎีกาที่ 90/2522      
    ป.พ.พ. มาตรา 386, 387, 388, 574
    ป.วิ.พ. มาตรา 161, 249 
    โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากจำเลย สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดการชำระค่าเช่าซื้อไว้ทุกวันที่ 25 ของเดือน แต่เมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาหลายงวดโจทก์ขอผ่อนผัน จำเลยก็ยินยอมผ่อนผันให้ และเมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อมาชำระหลังจากเกินกำหนดเวลาตามงวดแล้ว จำเลยก็ยินยอมรับไว้มิได้ทักท้วง เมื่อจำเลยยึดรถยนต์ไปจากโจทก์ แล้ว จำเลยยังมีหนังสือให้โจทก์เอาเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างมาชำระ ตามพฤติการณ์แสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นสำคัญดังนี้ จะถือว่าโจทก์ ผิดสัญญา สัญญาจึงเลิกกันตามข้อกำหนดในสัญญาไม่ได้ จำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็แต่ด้วยการแสดงเจตนาบอกเลิกตามมาตรา 386 และการบอกเลิกสัญญาก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรา387 และ 388 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
    อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ ดังนี้ จำเลยจะฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์มิได้
    ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นเป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ที่จะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือจะให้เป็นพับไปก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือในการดำเนินคดีของคู่ความ
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1746/2522      
    ป.พ.พ. มาตรา 386 
     กำหนดเวลาทำสัญญาซื้อขายใน 7 วัน นับแต่วันในสัญญาจองที่ดิน แต่หลังจากนั้นผู้ขายยังขอย้ายผู้ซื้อเข้าอยู่บ้านอื่นและให้ผู้ซื้อทำใบมอบอำนาจรับโอนและจำนองที่ดินอีก ไม่เป็นการถือวันที่กำหนดตามสัญญาจองเป็นสำคัญ ผู้ขายถือเป็นเหตุเลิกสัญญาไม่ได้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 2331/2522      
    ป.พ.พ. มาตรา 204, 306, 349, 350, 361, 369, 387 
     การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่ผู้เช่าและรับโอนสิทธิการเช่าแทนโดยจำเลยที่ 1 จะชำระเงินและโอนสิทธิการเช่าคืนจากจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 เป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้เมื่อจำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์ให้โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าแก่โจทก์จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนทั้งตัวเจ้าหนี้และลูกหนี้ และเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติเรื่องโอนสิทธิเรียกร้องดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตกลงกันด้วยวาจาโดยมิได้ทำเป็นหนังสือจึงไม่สมบูรณ์ไม่มีผลใช้บังคับ
     เมื่อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่  2 มิได้กำหนดวันชำระเงินและจำเลยที่ 2 บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1  นำเงินมาชำระภายใน 3 วัน นับแต่วันรับหนังสือหากพ้นกำหนดจะถือเป็นการขอถอนคำมั่นนั้นเป็นการกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และขอเลิกสัญญาเมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดสัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน
     สัญญาซึ่งลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ทั้งสองฝ่ายมีข้อความบ่งชัดว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่เพียงคำมั่น แต่การที่จำเลยที่ 1 บอกกล่าวกำหนดเวลาให้โจทก์ชำระเงินโจทก์ไม่ชำระตามเวลากำหนดโจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยรับชำระเงินจากโจทก์แล้วโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3687/2525      
    ป.พ.พ. มาตรา 222, 386, 457
    ป.วิ.พ. มาตรา 94 
    สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมิได้กำหนดเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนไว้ด้วย การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่า ฝ่ายจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ว่าจำเลยเป็นฝ่ายออกค่าธรรมเนียมในการโอนเองทั้งสิ้นนั้นเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ข้ออ้างของโจทก์ว่ามีข้อตกลงดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ โจทก์จะอาศัยข้ออ้างดังกล่าวมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 817/2524)
    การจะเลิกสัญญากัน ได้นั้นต้องอาศัยข้อสัญญาหรือกฎหมายที่มีบทบัญญัติไว้ให้เลิกสัญญาได้ จะเลิกสัญญาเอาเองโดยไม่มีข้อสัญญายินยอมกันหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้ สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้กำหนดว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนครึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ทั้งตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมออกค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยเหตุดังกล่าวไม่ได้ โจทก์ยังมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3322/2528      
    ป.พ.พ. มาตรา 391, 587
    ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2), 246 
        โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยมีข้อสัญญาว่าถ้าผู้รับจ้าง (จำเลย) ทำการเจาะบ่อไม่ได้ปริมาณน้ำถึง 50 แกลลอน ต่อหนึ่งนาทีสัญญานี้เป็นอันยกเลิกผู้รับจ้างจะคืนเงิน (ค่าจ้าง) ที่รับมาทั้งหมดจำเลยได้เจาะบ่อน้ำบาดาลตามสัญญาให้โจทก์แล้ว  แต่ไม่ได้ปริมาณน้ำตามสัญญาดังนั้นสัญญาจึงเลิกกันตามเงื่อนไขข้างต้น โจทก์จำเลยกลับคืนไปสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391เมื่อจำเลยทำงานให้ตามที่โจทก์จ้างไปแล้วแต่ได้น้ำไม่ครบปริมาณตามสัญญา โจทก์จึงต้องใช้เงินค่าแห่งงานที่จำเลยได้กระทำไปให้จำเลย แม้ในสัญญาจะระบุว่าจำเลยจะต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ทั้งหมด  ก็หาได้หมายถึงว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องใช้ค่าแห่งงานให้จำเลยไม่ ซึ่งค่าแห่งงานนี้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามสมควร    โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเจาะบ่อน้ำบาดาลขอให้บังคับจำเลย คืนเงินมัดจำและเงินทดรองที่เบิกไปแล้วพร้อมทั้งค่าปรับแก่โจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่ค้างชำระตาม สัญญาดังกล่าวจากโจทก์ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้เจาะบ่อน้ำบาดาล ให้โจทก์แล้วแต่ไม่ได้ปริมาณน้ำตามสัญญาทำให้สัญญาเลิกกัน ศาลย่อมจักให้โจทก์ใช้ค่าแห่งงานที่ทำแล้วนั้นแก่จำเลยได้  ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอของจำเลย
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1481/2531      
    ป.พ.พ. มาตรา 386, 391, 572, 574 
       เมื่อจำเลยผู้เช่าซื้อผิดสัญญาค้างชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไป แม้ภายหลังจำเลยไม่ออกจากอาคารที่เช่าซื้อและส่งเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระกับยังคงชำระค่าเช่าซื้อรายเดือนต่อไปอีก ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยินยอมให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไปตามเดิม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าซื้อได้ทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวแก่จำเลยก่อน
    คำพิพากษาฎีกาที่ 6152/2544      
    ป.พ.พ. มาตรา 193/30, 391, 406 
     โจทก์มอบที่ดินให้จำเลยทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายการที่จำเลยขุดดินในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้เพราะเป็นการตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยถูกต้อง จึงไม่เป็นเรื่องลาภมิควรได้และโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพา




    Jess
    ข้อความที่ 1 เมื่อ » 2021-08-11 13:26:25 (IP : , ,84.17.45.158 ,, )
    กระทู้ดีเลยทีเดียว ฉันเพิ่งสะดุดบล็อกของคุณและสนุกกับการอ่านโพสต์บล็อกของคุณเป็นอย่างมาก ฉันกำลังมองหาโพสต์ใหม่เพื่อรับข้อมูลที่มีค่ามากขึ้น ขอบคุณมากสำหรับ <a href="https://yanrefitness.es">ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ </a>

    samcoffee
    ข้อความที่ 2 เมื่อ » 2024-08-08 08:56:58 (IP : , ,185.237.15.164 ,, )
    กระทู้นี้ดีมากเลยค่ะ! ฉันเพิ่งบังเอิญเจอบล็อกของคุณและสนุกกับการอ่านโพสต์ต่าง ๆ ของคุณมากจริง ๆ ตอนนี้ฉันกำลังรอคอยโพสต์ใหม่ ๆ เพื่อรับข้อมูลที่มีประโยชน์มากขึ้น sex dolls cheap ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลดี ๆ ที่คุณแบ่งปันนะคะ!
    Please login for write message