เมื่อ » 2017-10-06 20:31:18 (IP : , ,27.145.170.90 ,, Admin)
Admin Edit : 2018-01-03 18:55:26
ข้อควรรู้เมื่อต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน
เมื่อได้รับหมายเรียกจากพนักงานตำรวจในคดีอาญา หากท่านเป็นผู้ต้องหาได้ไปพบตำรวจหรือพนักงานสอบสวนตามกำหนดวันนัด กฎหมายย่อมกำหนดให้พนักงานสอบสวน ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดแล้ว จึงแจ้งข้อหาให้ทราบ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134 ดังนั้น ตำรวจไม่อาจจับท่านได้เพียงแต่ให้ท่านบุคคลผู้ได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น
หากท่านได้ไปพบเจ้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกแล้ว ในการตามคำให้การผู้ต้องหา กฎหมายได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134/4 ดังนั้น กรณีย่อมเป็นสิทธิของท่านที่จะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาได้ โดยเป็นสิทธิที่กฎหมายให้อำนาจผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ เนื่องจากหากท่านให้ถ้อยคำอย่างใดไว้ ถ้อยคำนั้นอาจเป็นพยานหลักฐานในพิจารณาคดีได้ แต่ท่านยังไม่ถูกจับในทันที
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา134 เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ
การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น
ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้
เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้
มาตรา 134/4 ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้
ข้อควรรู้เมื่อต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน
เมื่อผู้ต้องหาได้รับหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวน หรือมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง หรือเมื่อผู้ต้องหาถูกจับกุมตัวมาส่งพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมตัวในความผิดซึ่งหน้าหรือการจับกุมตัวตามหมายจับ ขั้นตอนต่อไป พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบและสอบคำให้การของผู้ต้องหารวบรวมเข้าสำนวนไว้ ซึ่งในกระบวนการนี้ ผู้ต้องหามักไม่ทราบแนวทางปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร จนบางครั้งทำให้เสียสิทธิของตนตามกฎหมาย ซึ่งทางปฏิบัติแล้วกระบวนการดังกล่าว ทางข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ผู้ต้องหารวมทั้งทนายความของผู้ต้องหา ควรรับทราบเป็นแนวทาง ดังนี้
1.การรับทราบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา และรับทราบข้อกล่าว
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 วรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบ ถึง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ” ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 ฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. 2547 นั้น พนักงานสอบสวนมีหน้าที่เพียงแจ้ง “ข้อกล่าวหา” ให้ผู้ต้องหาทราบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีหน้าที่แจ้ง “ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด” ให้ผู้ต้องหาทราบแต่อย่างใด ดังนั้นแต่เดิมพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เพียงแจ้งข้อกล่าวหาสั้นๆ ให้ ผู้ต้องหาทราบ เท่านั้น เช่น แจ้งว่า ถูกกล่าวว่ากระทำผิดฐานพยายามฆ่า กระทำผิดฐานลักทรัพย์ กระทำผิดฐานรับของโจร โดยที่ไม่จำต้องแจ้งรายละเอียดต่างๆของคดีให้ผู้ต้องหาทราบแต่อย่างใด จนได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งตามกฎหมายแก้ไขที่เพิ่มเติมใหม่นี้ พนักงานสอบสวนมีหน้าที่จะต้องแจ้ง “ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด” พร้อมกับการแจ้งข้อหาด้วย
ดังนั้นแล้ว สิทธิประการแรกของผู้ต้องหาที่สำคัญมากต่อการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา และเป็นประโยชน์แก่ทนายความของผู้ต้องหาในการเตรียมคดีในชั้นสอบสวนอย่างมาก ก็คือ สิทธิในการรับทราบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหากระทำผิด เพื่อให้เข้าใจได้ว่า ผู้ต้องหาได้ไปกระทำอะไรจึงถึงกล่าวหาว่ากระทำผิด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว มีตัวอย่างเช่น ผู้กล่าวหาคือใคร พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเป็นอย่างไร อาวุธที่ใช้ก่อเหตุคืออะไร เหตุเกิดเมื่อไหร่ สถานที่เกิดเหตุคือที่ใด มีบุคคลที่เกี่ยวข้องคือใครบ้าง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการแก้ข้อกล่าวหา และนำพยานหลักฐานต่างๆมาประกอบการแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้องครบถ้วน แต่ทั้งนี้ผู้ต้องหามีสิทธิเพียง รับทราบข้อเท็จจริงจากพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่มีสิทธิถึงขั้นขอตรวจดูพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือบันทึกคำให้การของพยานผู้กล่าวหา ทั้งนี้ถ้าหากพนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องให้ผู้ต้องหาทราบ หรือแจ้งแต่ไม่ครบถ้วน ผู้ต้องหาหรือทนายความผู้ต้องหา ควรจะขอให้พนักงานสอบสวนชี้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการแก้ข้อกล่าวที่ถูกต้อง ทั้งนี้เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนจะทำบันทึกการแจ้งข้อหาซึ่งจะระบุรายละเอียด ข้อเท็จจริงต่างๆไว้ ซึ่งผู้ต้องหาและทนายความผู้ต้องหาสามารถใช้เพื่อศึกษาเตรียมแนวทางต่อสู้คดี ต่อไปได้โดยสะดวก และหากพนักงานสอบสวนไม่มอบสำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหา ก็จะต้องทวงถามทันที และบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาฉบับนี้ ผู้ต้องหาจะต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี ทนายความของผู้ต้องหาจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฎในบันทึกข้อกล่าวหาเพื่อเตรียมแนวทางต่อสู้คดีต่อไป
2.การให้การในชั้นสอบสวน
สิทธิประการต่อมาของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 ก็คือ สิทธิในการชี้แจงแก้ข้อหา และแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ กล่าวคือ ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การแก้คดีในประเด็นต่างๆที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงมาข้างต้นได้ และพนักงานสอบสวนมีหน้าที่จะต้องจดคำให้การของผู้ต้องหาดังกล่าวไว้ในคำให้การชั้นสอบสวน ถ้าหากพนักงานสอบสวนบ่ายเบี่ยง ไม่จดบันทึกคำให้การ โดยอ้างว่าให้ไปให้การในชั้นศาล หรือจดบันทึกคำให้การเฉพาะส่วนที่พนักงานสอบสวนต้องการ ส่วนไหนที่พนักงานสอบสวนไม่ต้องการก็ไม่จดบันทึก เช่นนี้ย่อมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ต้องหาและทนายความผู้ต้องหามีสิทธิโต้แย้งคัดค้านได้ ทั้งนี้ถึงแม้ผู้ต้องหาจะมีสิทธิให้หรือไม่ให้การใดๆก็ได้ในชั้นสอบสวน และมีสิทธิไปให้การทีเดียวในชั้นศาลได้ แต่เมื่อไปถึงชั้นศาลแล้ว ศาลมักจะให้น้ำหนักต่อคำให้การชั้นสอบสวนไม่น้อย เพราะเป็นคำให้การที่จัดทำขึ้นทันทีใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหายังไม่มีโอกาสนึกคิดปรับแต่งข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเท็จจริงใดที่ผู้ต้องหาไม่เคยให้การชั้นสอบสวน แต่มาให้การในชั้นศาลลอยๆ ศาลอาจจะเห็นว่าไม่มีน้ำหนัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูรูปคดีโดยรวมประกอบด้วย เพราะบางคดี การให้การปฏิเสธลอย คือปฏิเสธโดยไม่ให้รายละเอียดใดๆ ก็เป็นประโยชน์กว่า
ทั้งนี้ในชั้นสอบสวนครั้งแรก หากผู้ต้องหายังให้การแก้ข้อกล่าวไม่ครบถ้วน หรือพบว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างที่เป็นประโยชน์แต่ยังไม่ได้ให้การชั้นสอบสวน หรือพึ่งจะสืบพบข้อเท็จจริงดังกล่าวภายหลัง ระหว่างที่ยังไม่ส่งสำนวนไปให้พนักงานอัยการ ผู้ต้องหาย่อมมีสิทธิร้องให้ขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมได้ และหากส่งสำนวนให้พนักงานอัยการไปแล้ว ย่อมมีสิทธิร้องขอให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนตนเองเพิ่มเติมได้ แต่ทั้งนี้เป็นดุลยพินิจของพนักงานอัยการว่าจะสั่งให้สอบเพิ่มเติมหรือไม่
3. การอ้างพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุในชั้นสอบสวน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถกระทำได้ เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ดังนั้น ถ้า ผู้ต้องหามีพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยาน วัตถุ ที่จะสามารถ พิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา ย่อมมีสิทธินำพยานบุคคลไปให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และมีสิทธิอ้างอิงพยานเอกสารและพยานวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกวีดีโอ รูปภาพ หรือเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคดีและมีหน้าที่รับเอกสารดังกล่าวรวมเข้าสำนวนสอบสวนไว้ เพื่อประกอบการสอบสวนต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าผู้ต้องหาจะมีสิทธิให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานคนใด หรือ นำเอกสารหลักฐานชิ้นใดเข้าสำนวนสอบสวนก็ได้ แต่พยานบุคคลหรือพยานเอกสารและพยานวัตถุ ที่จะขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและรวมเข้าสำนวนนั้น จะต้องเกี่ยวกับข้องกับประเด็นในคดีและสามารถพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาได้เท่านั้น
ทั้งนี้การนำพยานหลักฐานต่างๆมาให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนรวบรวมเข้าสำนวน อาจจะทำให้วันทำการรับทราบข้อกล่าวหาครั้งแรก หรือนำมาภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้วก็ได้ แต่ต้องทำก่อนที่พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ ซึ่งถ้าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนให้กับพนักงานอัยการแล้ว ผู้ต้องหาต้องการขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติม ก็ต้องร้องขอให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นดุลยพินิจของพนักงานอัยการที่สั่งให้สอบเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหา และกระบวนการขั้นตอนในชั้นสอบสวนในทางปฏิบัติ ที่ผู้ต้องหาทุกควรทราบก่อนไปให้การในชั้นสอบสวนต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ก่อนการสอบสวน ผู้ต้องหามีสิทธินำทนายความของตนเองไปช่วยให้คำปรึกษาและอยู่ร่วมฟังการสอบสวนเพื่อรักษาสิทธิของตนเองได้ แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความ และต้องการทนายความ ถ้าคดีนั้นเป็นคดีที่มีโทษจำคุก มิใช่เป็นคดีที่มีแต่โทษปรับ ก็สามารถร้องขอให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/1 อนุมาตรา 2
|