เมื่อ » 2017-09-21 14:35:53 (IP : , ,27.145.233.92 ,, Admin)
Admin Edit : 2018-01-03 19:10:18
กฎหมายยาเสพติดให้โทษฉบับคืนความสุขคลอดแล้ว เพิ่มช่องโทษจาก “ประหาร” อย่างเดียวเป็นปรับและจำคุกตลอดชีวิตในกรณีจำหน่าย เข้ม! ครอบครอง ”แอลเอสดี-ยาบ้า” สัดส่วนเท่าใดโดนหมด ศาลเล็งใช้ระบบประเมินความเสี่ยงให้คนยากจนได้ประกันโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ประเดิมใช้ 5 ศาล 1 ก.พ.นี้ โพลเผยคนส่วนใหญ่ 87% หนุนคงโทษประหาร
เมื่อวันอาทิตย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 แล้ว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ โดยเหตุผลการประกาศใช้กฎหมายนี้ระบุว่า กฎหมายปัจจุบันมีบทบัญญัติบางส่วนที่กำหนดว่าบุคคลใดซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือแอลเอสดี และแอมเฟตามีน หรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน) ประเภท 2 ประเภท 4 และประเภท 5 โดยมียาเสพติดให้โทษเกินปริมาณที่กำหนดไว้ ให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าผู้นั้นกระทำเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้พิจารณาจากพฤติการณ์หรือคำนึงถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทำความผิด และไม่ได้ให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยในการพิสูจน์ความจริงในคดี สมควรแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้มีลักษณะเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงได้
นอกจากนี้ อัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่กำหนดโทษให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขปรับปรุงบทกำหนดโทษดังกล่าวเพื่อให้การลงโทษผู้กระทำความผิดมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 10 มาตรา ซึ่งเนื้อหาที่น่าสนใจคือ มาตรา 6 ซึ่งเป็นการยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษให้ โดยได้แก้ไขโทษให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยระบุว่า ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ในขณะที่ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการกระทำความผิดนี้เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท
ทั้งนี้ กฎหมายเดิมโทษของจำหน่ายจะต้องระวางโทษประหารชีวิตอย่างเดียว แต่กฎหมายใหม่ได้เพิ่มโทษปรับและจำคุกตลอดชีวิต ส่วนในเรื่องของการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุนั้น กฎหมายเดิมได้มีการกำหนดสัดส่วนไว้ของปริมาณยาเสพติดไว้ แต่กฎหมายใหม่ได้ตัดทิ้งไป
ที่น่าสนใจอีกมาตราคือ มาตรา 7 ในเรื่องการครอบครองยาเสพติดประเภท 1 กฎหมายเดิมได้กำหนดโทษไว้ในกรณีการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในกรณีเป็นสารบริสุทธิ์หรือจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 3 กรัมขึ้นไป ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับต้อง แต่กฎหมายใหม่นั้นไม่ได้กำหนดปริมาณแต่อย่างใด โดยหากมีการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแทน
“มาตรา 9 ระบุว่า กรณีศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง
แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับและคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ เมื่อความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้นมีอำนาจกำหนดโทษใหม่ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายใหม่ก็ได้ และถ้าผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว และศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะรอการลงโทษที่เหลืออยู่ หรือจะปล่อยผู้กระทำความผิดไปก็ได้”กฎหมายใหม่ระบุ
คุกไม่เกิน 5 ปีลุ้นได้ประกัน
วันเดียวกัน นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาพบสื่อมวลชน ที่สวนไทรโยครีสอร์ต จ.กาญจนบุรี โดยกล่าวถึงสถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ว่า มีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาของศาล 59,070 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 289,675 คน หรือ 20.29% ของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังที่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง แต่ไม่มีหลักทรัพย์วางประกัน จึงทำให้ถูกขังระหว่างพิจารณา แตกต่างจากผู้ที่มีฐานะดีมีหลักประกันมาวางต่อศาลสามารถไปใช้ชีวิตปกติ และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ศาลจึงได้นำระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวมาทดลองใช้ในระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการหลบหนีของจำเลย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของศาลตรวจสอบข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนดแล้วประเมินออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงการหลบหนีของจำเลย เพื่อให้ศาลพิจารณาก่อนสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และไม่ต้องใช้หลักประกัน เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยจะเริ่มโครงการทดลองวันที่ 1 ก.พ.นี้
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงในการหลบหนีจะแบ่งออกเป็นระดับ คือ เสี่ยงมากที่สุด เสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย และเสี่ยงน้อยมากที่สุด โดยประเมินจากการตรวจประวัติการก่อเหตุอาชญากร พฤติการณ์ในคดี, ความเสี่ยงการหลบหนี, ความเสี่ยงการก่อเหตุซ้ำ, ความเสี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม ความเสี่ยงที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และฐานข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้น ประกอบการพิจารณาของผู้พิพากษา เช่น หากเสี่ยงมากอาจพิจารณาให้ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีแอปพลิเคชันติดตามตัว
ด้านนายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า เบื้องต้นจะทดลองใช้แบบประเมินความเสี่ยงเฉพาะศาลชั้นต้นนำร่อง 5 ศาล ประกอบด้วย ศาลอาญากรุงเทพใต้, ศาลจังหวัดจันทบุรี, ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช, ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เวลาทดลอง 1-3 ปี ก่อนพิจารณาขยายไปยังศาลอื่นทั่วประเทศ และทดลองกับทุกฐานความผิด ยกเว้นความผิดในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และคดียาเสพติดที่มีการครอบครองและจำหน่ายจำนวนมาก
“แม้อัตราโทษคดีไม่เกิน 5 ปี จะมีสิทธิได้รับการรอลงอาญาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่จะนำผลการหลบหนีของจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในโครงการทดลองมาเปรียบเทียบกับจำเลยที่ใช้หลักประกันและหลบหนี หากพบว่าจำเลยในโครงการทดลองมีการหลบหนีมากกว่า ก็จะปรับปรุงแก้ไขแบบประเมินความเสี่ยงให้แม่นยำมากขึ้น เพราะหากผิดพลาดไปจะกลายเป็นว่าปล่อยคนที่ไม่สมควรปล่อย ขังคนที่ไม่สมควรขัง และอาจต้องขยายเวลาการทดลองมากขึ้นอีก” นายมุขเมธินกล่าว และว่า จากการศึกษาพบว่าการใช้งบประมาณในการประเมินความเสี่ยงปล่อยชั่วคราว จะลดงบประมาณการดูแลผู้ต้องขังประมาณ 10% ต่อคน และหวังว่าจะได้รับเงินสนับสนุนในส่วนนี้จากภาครัฐ โดยการจัดซื้อกำไลอิเล็กทรอนิกส์ขณะนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ชิ้น และคาดว่าจะนำมาทดลองใช้ได้ก่อน 100 ชิ้น
ส่วน น.ส.ธัญญานุช ตันติกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า แบบประเมินความเสี่ยงของเราดัดแปลงจากแบบของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ศาลยังมีแนวคิดเรื่องตำรวจศาล หรือคอร์ตมาร์แชลเป็นผู้สนับสนุนการติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีด้วย
เมื่อถามว่า การประเมินความเสี่ยงต่อการปล่อยชั่วคราว และใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์จะนำมาใช้กับศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายมุขเมธินกล่าวว่า ต้องการให้ใช้แบบประเมินความเสี่ยงกับทุกคดี แต่ขณะนี้ยังไม่แน่นอน เพราะยังอยู่ระหว่างทดลองนำร่อง
โพลหนุนโทษประหาร
ขณะเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องโทษประหารชีวิต จากประชาชนทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อโทษประหารชีวิตว่าควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 87.12% ระบุว่าควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป ขณะที่ 8% ระบุว่าไม่ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป และ 4.88% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการนำโทษประหารชีวิตมาใช้โดยไม่มีการลดโทษในคดีร้ายแรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 86.32% ระบุว่าควรมีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้โดยไม่มีการลดโทษในคดีร้ายแรง เพราะการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังอ่อนมาก ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะไม่หลาบจำ เมื่อมีโอกาสลดหย่อนโทษ ก็จะออกมากระทำผิดซ้ำอีก โดยเฉพาะในคดีร้ายแรง เช่น ฆ่าผู้อื่น เพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นต่อไป และน่าจะช่วยลดคดีการก่ออาชญากรรมไปด้วย ขณะที่ 11.20% ระบุว่าไม่ควร เพราะควรให้โอกาสสำหรับผู้ที่กระทำผิด บางคนอาจจะทำเพราะเหตุบันดาลโทสะ หรือไม่ได้เจตนา และถ้าหากเคยเป็นผู้ที่ทำความดี ให้การเป็นประโยชน์และสำนึกได้ ก็สมควรได้รับการลดโทษ โดยต้องดูเป็นรายกรณีไป และ 2.48% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อคดีที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับโทษประหารชีวิตมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 56.57% ระบุว่าเป็นคดีฆ่าข่มขืน รองลงมา 22.04% การกระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง 10.65% คดีฆ่าคนตายโดยเจตนา 3.12% คดียาเสพติด 2.48% คดีปล้นชิงทรัพย์แล้วฆ่า 1.47% คดีทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต 1.10% คดีทุจริตคอร์รัปชัน
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 92.40% ระบุว่าควรเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง เพราะกังวลว่าถ้าปล่อยตัวออกมาก็จะต้องกระทำผิดซ้ำอีกครั้ง ผู้ที่กระทำผิดไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย ไม่มีความเข็ดหลาบจำ ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด 4.56% ระบุว่าไม่ควร เพราะมีบทลงโทษสูงสุดที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว และ 3.04% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
|