เมื่อ » 2017-06-06 17:21:52 (IP : , ,124.122.4.141 ,, Admin)
Admin Edit : 2018-01-03 19:14:54
เล่นแชร์ผิดกฎหมายหรือไม่????
หากจะพูดถึงการเล่นแชร์แล้ว คงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นที่นิยมเล่นกันในกลุ่มบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกันและรู้จักกันเป็นอย่างดี อาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่งไปใช้จ่ายหรือใช้ในการลงทุนธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนในระบบสถาบันการเงิน
การเล่นแชร์ผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ประชาชนส่วนมากเข้าใจว่าการเล่นแชร์นั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนยังสามารถเล่นแชร์กันได้อย่างอิสระ แต่ต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โดยมีกฎหมายที่ควบคุม กำกับ ดูแลการเล่นแชร์ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ . 2534 ซึ่งได้บัญญัติคำนิยามของการเล่นแชร์ไว้ว่า หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เล่นแชร์อย่างไร ? ไม่ให้ผิดกฎหมาย
การเล่นแชร์อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ได้นั้น จะต้องเป็นการเล่นแชร์ที่ขัดต่อข้อจำกัดตามกฎหมายดังต่อไปนี้
เล่นแชร์อย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย?
หากจะพูดถึงการเล่นแชร์แล้ว คงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นที่นิยมเล่นกันในกลุ่มบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกันและรู้จักกันเป็นอย่างดี อาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่งไปใช้จ่ายหรือใช้ในการลงทุนธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนในระบบสถาบันการเงิน
กรณีบุคคลธรรมดา หรือประชาชนทั่วไป มีข้อกำหนดห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์ (ท้าวแชร์) หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ รวมกันมากกว่า 3 วง หรือมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน หรือมีทุนกองกลางต่อ 1 งวดรวมกันทุกวงมากกว่า 300,000 บาท หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ โดยท้าวแชร์ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีนิติบุคคล ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ หากนิติบุคคลใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์ และห้ามมิให้สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์ หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ หรือสมาชิกวงแชร์ หากนิติบุคคลใดฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดกรณีอื่นๆ ได้แก่ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
ถ้านายวงแชร์(ท้าวแชร์)หนีวงแชร์จะทำอย่างไร?
กรณีท้าวแชร์หนีหรือโกงแชร์มี 2 กรณี ได้แก่
1. มีเจตนาทำวงแชร์จริง แต่ด้วยสาเหตุใดหรือมีความจำเป็นใดๆ ก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถบริหารเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเล่นแชร์ สมาชิกวงแชร์หรือลูกแชร์สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันในทางแพ่ง โดยนำพยานบุคคลมาสืบได้
แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว การเล่นแชร์นั้นไม่ถือเป็นการกู้ยืมที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
2. มีเจตนาจะไม่ทำวงแชร์มาตั้งแต่ต้นว่า แต่อ้างว่าจะทำวงแชร์ หลังจากนั้นเมื่อได้เงินแล้วก็เชิดเงินหลบหนีไปสมาชิกหรือลูกวงแชร์สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับท้าวแชร์ได้ เนื่องจากถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ตามข้อที่ 1 และข้อที่ 2 จะเป็นคดีแพ่งทันทีคุณต้องตั้งทนายความเพื่อฟ้องเรียกเงินตามสัญญาเอาเอง ซื้อคดีส่วนใหญ่นั้นเป็นคดีแพ่ง
เมื่อสมาชิกวงแชร์(ลูกแชร์) หนีวงแชร์จะทำอย่างไร?
ถ้าลูกแชร์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนหนีวงแชร์ วงแชร์นั้นจะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งท้าวแชร์จะต้องรับผิดชอบโดยการสำรองจ่ายแทนไปก่อน แล้วท้าวแชร์ก็ไปใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีกันในทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 หรือฟ้องร้องฐานผิดสัญญาในทางแพ่ง แล้วแต่กรณี เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับลูกแชร์ที่หนีวงแชร์ ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวสามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ ไม่จำต้องมีเอกสารหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ
ตัวอย่างแนวคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับการเล่นแชร์อันเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยมีแนวคำพิพากษาดังตัวอย่างต่อไปนี้
นายดำเป็นนายวงแชร์หรือท้าวแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง 5 วง โดยมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า 30 คนอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 และต่อมานายดำยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหาย โดยหลอกลวงว่า มีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล หรือบางงวดนายดำก็แอบอ้างอาศัยชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าสมาชิกที่เข้าร่วมประมูล ทั้งที่ความจริงไม่มีสมาชิกรายใดกระทำการเช่นนั้นหรือมอบหมายให้นายดำกระทำการแทน จนกระทั่งนายดำได้เงินทุนกองกลางไปเสียเองการกระทำของนายดำจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อีกฐานหนึ่งด้วย
ดังนั้น แม้ประชาชนจะสามารถเล่นแชร์กันได้อย่างอิสระ แต่กฎหมายก็กำหนดให้กระทำได้ในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่เราควรศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือถูกหลอกลวง ปัจจุบันได้มีผู้ประกอบธุรกิจเป็นนายวงแชร์กว้างขวาง ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งยังปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจพยายามดำเนินการให้ใกล้เคียงกับธุรกิจเงินทุนซึ่งมีกฎหมาย ควบคุมอยู่แล้ว แต่ในส่วนของประชาชนยังสามารถเล่นแชร์กันได้อย่างอิสระเจตนารมณ์ ใช้บังคับกับผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ (ท้าวแชร์) ในส่วนของผู้เล่นแชร์ (ลูกวงแชร์) ถ้ามีการผิดสัญญา การเล่นแชร์ผู้เล่นแชร์สามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้
การเล่นแชร์ (มาตรา 4)
1. บุคคลตั้งแต่ 3 คนตกลงเป็นสมาชิกวงแชร์
2. ส่งเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ
3. เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนการรับทุนกองกลางโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด
ข้อห้าม
กรณีบุคคลธรรมดา (มาตรา 6)
1. เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง
2. มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันมากกว่า 30 คน
3. มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงมากกว่า 300,000 บาท
กรณีนิติบุคคล (มาตรา 5) ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์
กรณีอื่นๆ
1. ห้ามโฆษณาชี้ชวนประชาชนให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 9)
2. ห้ามใช้ชื่อธุรกิจหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า แชร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายใกล้เคียงกัน (มาตรา 10)
บทลงโทษ
- บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 6 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลาง แต่ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท
- ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
- ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
|